วันอาสาฬหบูชา
ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๘

     วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นับถอยหลังกลับไปเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว นับเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม

     เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธกรรมแก่ตนเต็มที่ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียน ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอดพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วยแต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาน ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช บำเพ็ญตนนานถึง ๖ ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้ ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่า แท้จริงมาสู่ชีวิต อันเรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๔ ปี ที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นทรงงานประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง จึงมุ่งไปพบนักบวช ๕ รูป หรือเบญจวัคคีย์ และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน ๘

ใ จ ค ว า ม ส ำ คั ญ ข อ ง ป ฐ ม เ ท ศ น า

ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ

ก. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

๑. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
๒. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติอย่างสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

ข. อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น

ผ ล จ า ก ก า ร แ ส ด ง ป ฐ ม เท ศ น า

     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวก รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ

ค ว า ม ห ม า ย ข อ ง อ า ส า ฬ ห บู ช า

     “อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

     โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

     เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด

 

วันเข้าพรรษา
ต ร ง กั บ วั น แ ร ม  ๑ ค่ำ  เ ดื อ น ๘

 วันเข้าพรรษา กําหนดเป็น ๒ ระยะ คือ ปุริมพรรษา และ ปัจฉิมพรรษา

๑ ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม ๑ คํา เดือน ๘ ของทุกปี

จนถึง วันขึ้น ๑๕ คํา เดือน ๑๑

๒ ปัจฉิมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาหลัง สําหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน

ตรงกับวันแรม ๑ คํา เดือน ๙  จนถึง วันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๒

ความหมายของวันเข้าพรรษา คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจําอยู่

ณ ที่แห่งใดแห่งหนึง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนมีกําหนด ๓ เดือน ตามพระวินัยบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมในที่อื่น เรียกกันโดยทั่วไปว่า จําพรรษา

ประวัติความเป็นมา

แต่ดั้งเดิมในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจําพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อ  ทั้งในฤดูหนาว ฤดุร้อน และฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะศากยบุตรไม่ยอมหยุดสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่พ่อค้าและนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ต่างพากันหยุดสัญจรในช่วงฤดูฝนนี้ การที่พระภิกษุสงฆ์ จาริกไปในที่ต่าง ๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบยํ่าข้าวกล้าชาวบ้าน ได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบยํ่าโดน สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงได้วางระเบียบ ให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่ประจําที่ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนแห่งฤดูฝน ภิกษุสงฆ์ที่อธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว จะไปค้างแรมที่อื่นนอกเหนือจากอาวาส หรือที่อยู่ของตนไม่ได้แม้แต่คืนเดียว หากไปแล้วไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กําหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ถือว่า พระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา

แต่หากมีกรณีจําเป็น ๔ ประการ ต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถกระทํา สัตตาหะกรณียะ คือ ไปค้างคืนที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา ๗ วัน คือ

๑ ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย

๒ ไประงับไม่ให้พระภิกษุสึก

๓ ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชํารุดในพรรษานั้น

๔ ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบําเพ็ญกุศลของเขา

ในการอธิษฐานเข้าพรรษา ณ วัด หรือที่ใดที่หนึ่ง หากมีเหตุจําเป็น ๕ ประการต่อไปนี้ ภิกษุไม่ต้องอาบัติ แม้จะไปอยู่ที่อื่น ได้แก่

๑ ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกนํ้าท่วม

๒ ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป อนุญาตให้ไปกับเขาได้ หรือชาวบ้านแตกเป็น ๒ ฝ่าย ให้ไปกับฝ่ายที่มีศรัทธาเลื่อมใส

๓ ขาดแคลนอาหาร หรือยารักษาโรค

๔ ภิกษุสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามทําให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดแตกกัน ให้ไปเพื่อหาทางระงับได้

ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ

๑ เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทําไร่นา หากพระภิกษุสงฆ์จาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย

๒ หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา ๗-๙ เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน

๓ เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสําหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตลอดจนเตรียมการสั่งสอนประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

๔ เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกําลังสําคัญในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาต่อไป

๕ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบําเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทําบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบนํ้าฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัย งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา ตลอดเวลาเข้าพรรษา

 

อ้างอิง ประเพณี พิธีมงคล และวันสําคัญของไทย กรุงเทพ ชมรมเด็ก 2539

 ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี ารแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น

ประเพณีการถวายผ้าอาบนํ้าฝน

การถวายผ้าอาบนํ้าฝนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลคือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบนํ้าสําหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงนํ้าฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวาย ผ้าอาบนํ้าฝนแด่พระสงฆ์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จึงนิยมนําผ้าอาบนํ้าฝนไปถวายพระสงฆ์ผู้จะ อยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จําเป็นต่าง ๆ


วัดธรรมบารมี เมืองดอร์ทมุนด์