ปางที่ ๖๓
ปางทรงรับอุทกัง

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ
เป็นกิริยารับน้ำ

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลีประทานโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายให้มี
ธรรมเป็นที่พึ่ง พอควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้านภัณฑุคาม ประทับสำราญพระอริยาบถ
โดยควรแก่พระอัธยาศัย แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ณ บ้านภัณฑุคามนั้น ให้ตั้งอยู่ในอริยธรรม คือ ศีล สมาธิ
ปัญญา วิมุติ อันเป็นธรรมนำให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล

ต่อนั้นพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปบ้าน หัตถีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนคร
โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนครแสดงธรรมโปรดพุทธบรษัทชาวเมืองนั้น ต่อนั้นจึงได้เสด็จไปยังเมืองปาวา-
นคร เสด็จเข้าประทับอาศัยอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตรซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น

ครั้นนายจุนทะได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสถิตอยู่ในสวนของตนก็มีความยินดี ได้นำสักการะ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาโปรด ให้นายจุนทะชื่นชม
โสมนัส และบรรลุโสดาปัตติผล นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคกับทั้งภิกษุสงฆ์ ให้เข้าไปรับ
อาหารบิณฑบาตยังนิเวศน์ของตน พระบรมศาสดาทรงรับด้วยดุษณีภาพ

เมื่อนายจุนทะทราบแล้วก็ดีใจรีบกราบทูลลากลับคืนนิเวศน์ ให้ตกแต่งขาทนียโภชนียาหารกับทั้งสุกรมัททวะ
(เนื้อสุกรอ่อน) ประกอบด้วยรสอันเอมโอชแต่ในเวลาราตรี ครั้นรุ่งเช้า นายจุนทะได้ออกไปทูลอันเชิญเสด็จ
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของนายจุนทะประทับนั่งบนพุทธอาสน์ แล้ว
ตรัสแก่นายจุนทะว่า สุกรมัททวะซึ่งท่านตกแต่งไว้นั้น จงอังคาสเฉพาะตถาคตผู้เดียว ที่เหลือนั้นให้ขุดหลุม
ฝังเสีย และจงอังคาสภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยอาหารอย่างอื่นๆ เถิดนายจุนทะก็กระทำตามพระพุทธบัญชร
ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วตรัสอนุโมทนาให้นายจุนทะได้ความเบิกบานในเทยยทานที่ถวายแล้ว
ก็เสด็จกลับไปสู่อัมพวัน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหาร ของนายจุนทะในวันนั้นก็ทรงประชวรพระโรค "โลหิตปักขัณฑิกาพาธ"
มีกำลังกล้าลงพระโลหิตเกิดทุกขเวทนามาก ตรัสสั่งพระอานนท์ว่า "อานนท์ มาเราจะไปเมืองกุสินารา
พระอานนท์รับพระบัญชาแล้ว จึงรีบแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลายเตรียมตามเสด็จไว้พร้อม"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเยียวยาพระโรคาพาธด้วยโอสถคือ สมาบัติภาวนา เสด็จจากเมืองปาวา
พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ตามมรรคาโดยลำดับ ขณะที่เสด็จไปตามทางนั้น ทรงบังเกิดการกระหายน้ำเป็น
กำลังจึงเสด็จและเข้าพักยังร่มไม้ริมทาง พลางตรัสเรียกพระอานนท์ว่า "อานนท์ตถาคตกระหายน้ำมาก
เธอจงไปตักน้ำมาให้ตถาคตดื่มระงับความกระหายให้สงบ"

เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขอน้ำเสวยในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก เนื่องด้วย
พระองค์ทรงประชวรมากใกล้อวสานพระชนม์ ต้องเสวยทุกขเวทนา ซึ่งเกิดแต่สังขาร สมดังกระแสพระโอ-
วาทที่ตรัสว่า "สังขารเป็นมารทำลายความสงบสุข ไม่เลือกว่าสังขารของผู้ใดทั้งสิ้น"

พระอานนท์ได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕oo เล่ม เพิ่งข้ามแม่น้ำนี้ไป แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำเล็ก
น้ำในแม่น้ำก็น้อย เมื่อล้อเกวียนมากด้วยกัน บดไปตลอดทุกเล่ม น้ำขุ่นนัก ไม่ควรจะเป็นน้ำเสวย ถัดนี้ไป
ไม่ไกลนัก แม่น้ำกกุธานที มีน้ำ จืด ใส เย็น ทั้งมีท่ารื่นรมย์ เชิญเสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที่โน้นเถิด ผิว่าจะ
เสวยหรือสรง ก็จะเย็นเป็นความสุขสำราญ

"ไปเถอะอานนท์" ทรงรับสั่ง ไปนำน้ำในแม่น้ำนี้แหละมาให้ตถาคตดื่มบรรเทาความกระหาย

พระอานนท์ ได้กราบทูลทัดทานถึง ครั้ง เมื่อได้สดับกระแสรับสั่งครั้งที่ พระเถระเจ้าก็อนุวัตรตามพระ-
บัญชาทันที ด้วยได้สติรู้ทันในพระบารมีของพระสัมพุทธเจ้าว่า "อันธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะ
ดำรงคงพระวาจามั่นในสิ่งซึ่งหาสาเหตุมิได้ เป็นไม่มี จึงรีบนำบาตรเดินตรงไปยังแม่น้ำนั้น ครั้นเข้าไปใกล้
แม่น้ำนั้นพลันได้ปีติโสมนัส ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า หากมาบันดาลน้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้นได้กลับ
กลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน

เมื่อพระอานนท์ได้เห็นเช่นนั้น ก็เกิดอัศจรรย์ใจ พิศวงในอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดำริว่า "อานุภาพ
อันใหญ่หลวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นปานนี้ เป็นความอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาในกาลก่อน พระเถรเจ้าได้ลง
ไปตักน้ำด้วยความบันเทิงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เสวยตามพระพุทธประสงค์ แล้วได้กราบทูล
ถึงเหตุอัศจรรย์ที่ได้ประสบมานั้น"

เหตุที่เกวียน ๕oo เล่ม เดินบดน้ำให้ขุ่นข้นเป็นอุปสรรคให้พระพุทธเจ้าต้องทรงได้ดื่มน้ำช้าไปนั้น ท่านกล่าว
ว่าเป็นบุพพกรรมแต่ชาติก่อนเมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพ่อค้าเกวียน ๕oo ขณะนำเกวียนผ่านแม่น้ำน้อย
ได้จัดทำกะทอสวมปากวัวเสียมิให้ดื่มกินน้ำขุ่น ด้วยเกรงว่าจะกินน้ำไม่สะอาดแล้วจึงกะทอที่สวมปากวัวออก
ปลดปล่อยให้วัวทั้งหลายได้ดื่มน้ำที่ใสสะอาดให้สุขสำราญ ส่วนกรรมนี้ได้ติดตามมาสนองพระองค์แม้ใกล้จะ
เสด็จปรินิพพานแล้ว ให้ต้องทรงลำบากยากแก่ดื่มน้ำช้าไปชั่วขณะหนึ่ง

ส่วนอานุภาพที่บันดาลให้น้ำซึ่งขุ่นข้นนั้น ให้พลันกลับใสบริสุทธิ์ในปัจจุบันทันความประสงค์ ท่านกล่าวว่า
เป็นด้วยอานุภาพของกุศลที่พระองค์ได้ทรงสร้างบ่อน้ำไว้ในทางกันดารน้ำ เมื่อครั้งพระองค์เสวยพระชาติ
เป็นพ่อค้าเกวียนนำเกวียนมากเล่มด้วยกันเดินทางผ่านที่กันดารด้วยน้ำ ต้องเอาน้ำใส่เกวียนไปกินเผอิญ
น้ำหมดยังไม่ทันถึงหมู่บ้านที่พัก ทั้งคนและวัวต้องสิ้นกำลังไปไม่รอด จะต้องตายกลางทาง พระโพธิสัตว์
ไม่ทรงยอมตายในทำนองนั้น ได้พยายามเดินตรวจดูสถานที่ซึ่งพอจะขุดบ่อน้ำได้ ครั้นเห็นที่ชายเนินแห่ง
หนึ่งมีกอหญ้าเขียวขจีงาม ก็แน่ใจว่าที่ตรงนี้จะต้องมีน้ำ จึงไปเรียกคนเกวียนที่ร่วมใจมาช่วยกันขุด พยา-
ยามสกัดงัดแผ่นศิลาใหญ่ที่ปิดทางเดินน้ำออก ในที่สุดก็สำเร็จได้น้ำใสสะอาด มีตาน้ำใหญ่ไหลออกมา
จึงไปตามคนในเกวียน และนำวัวทั้งหลายมาดื่ม อาบเป็นที่สำราญ พร้อมกับตักใส่กระบอกได้ไปกินตาม
ทางอีกด้วย ก่อนที่จะไปจากที่นั้นได้เขียนหนังสือบอกไว้ใกล้ทางเดิน ให้คนผ่านไปมาได้ทราบว่าสถานที่
ถัดจากทางนี้ไปเล็กน้อย มีบ่อน้ำจืด ใสบริสุทธิ์ควรแก่การดื่มดีนัก อานุภาพของบุญในการสร้างบ่อน้ำของ
พระองค์ครั้งกระโน้น ได้ตามมาสนองผลดลบันดาลให้น้ำขุ่นข้นพลันกลับใสบริสุทธิ์ ให้พระองค์ได้เสวย
ระงับความกระหายได้ความสุขสบายสมพระประสงค์ ด้วยประการฉะนี้ .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางทรงรับอุทกัง แต่เพียงนี้ .