ปางที่ ๔๗
ปางสนเข็ม

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ
พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็มพระหัตถ์ขวาทำกิริยาจับเส้นด้าย อยู่ในพระอาการสนเข็ม

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

พระพุทธรูปปางนี้เป็นปางที่มีความหมายสำคัญปางหนึ่ง ถึงน้ำพระทัยที่ทรงเอาธุรกิจการของสงฆ์ที่เกิดขึ้น
ในหมู่คณะ ที่ไม่ทรงดูดายในการงานที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ อันจะต้องจัดต้องทำให็เสร็จไป เมื่อมีสิ่งใดอัน
พระองค์จะช่วยได้ พระองค์จะทรงกรุณาเอาเป็นธุระร่วมงานด้วย ทรงเป็นกันเองในพระสงฆ์สาวก
ดังปางสนเข็มนี้ คือเมื่อพระสาวกร่วมกันตัดเย็บจีวร อันจะต้องให้แล้วเสร็จทันแก่เวลา เช่นในคราวทำผ้ากฐิน
พระองค์ก็เสด็จไปร่วมเป็นประธานในงานนั้น เป็นที่ซาบซึ้งในพระเมตตาแก่พระสงฆ์ที่ร่วมงานนั้นเป็นอย่าง
มาก ทรงรับธุระช่วยสนเข็มให้ในขณะพระเย็บผ้าจีวรอยู่ รูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระองค์ก็ทรงสนเข็ม
ประทาน

ข้อนี้เป็นเยี่ยงอย่างอันดีของผู้เป็นหัวหน้าในการงานทั่วไป หากไม่เพิกเฉยเอาเป็นธุระเข้าร่วมด้วยตาม
โอกาส ย่อมจะเป็นกำลังใจอย่างดีแก่คณะผู้ร่วมงานสามารถบันดาลงานนั้นให้พลันเสร็จเรียบร้อยด้วยดี
เพราะอาศัยพระพุทธรูปปางสนเข็มนี้แหละ ทำให้คนใจบุญรักการทอดจุลกฐิน ซึ่งมีงานอันจะต้องจัดต้อง
ทำจีวรให้สำเร็จในวันนั้น เป็นงานที่พระพุทธเจ้าทรงรัก ทรงพระเมตตาเสด็จร่วมด้วย ทรงพระกรุณารับหน้าที่
สนเข็มเย็บจีวรถือว่าเป็นบุญมาก เพราะลงทุนลงแรงมาก มีความพร้อมเพรียงด้วยผู้คนญาติมิตรมากแม้จน
บัดนี้ก็ยังนิยมทำจุลกฐินกันอยู่ แสดงว่ามีความเลื่อมใส พอใจงานที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดเพื่อรักษาไว้เป็น
เนตติสืบไป น่าอนุโมทนายิ่งนัก

ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหารใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธรัฐ ประจวบด้วยเวลา
นั้น จีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำ นอกจากจะได้รับการชุนเย็บปะ ด้วยน้ำมือของท่านมากครั้งแล้วเนื้อ
ผ้าจีวรผืนนั้นก็หมดอายุอีกด้วย เพราะหมดดี จะใช้เป็นจีวรต่อไปอีกไม่ได้ แปลว่าจะต้องทำใหม่ และเบื้องต้น
ของการทำจีวร ก็จะต้องหาผ้าไว้เพียงพอก่อน

ดังนั้น พระอนุรุทธเถระเจ้า จึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองหยากเยื่อที่บุลคลนำมาทิ้ง ด้วยเป็นเศษผ้า
หรือเป็นผ้าปฏิกูลบ้าง ตามสุสานที่บุลคลเอาห่อศพมาทิ้งไว้ตามราวไพร หรือสุมทุมพุ่มไม้ ที่บุคคลศรัทธา
นำมาทอดทิ้งไว้ถวาย ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "ผ้าป่า" ในบัดนี้บ้าง เพื่อเอาไปผสมให้พอทำจีวรในสมัยจีวรกาล
(คือเวลาทำจีวรตามพระพุทธบัญญัติที่เรียกว่าเวลาทอดกฐินซึ่งมีกำหนด เดือนเต็ม นับตั้งแต่ออกพรรษา
แล้วไป คือวันแรมค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒) ตามนิสัยพระเถระเจ้า ซึ่งนิยมใช้ผ้าจีวรบังสุกุลเป็น
ปกติดังนั้น ท่านจึงได้เดินเที่ยวหาผ้าบังสุกุลในที่ต่างๆดังกล่าว

บังเอิญในเวลานั้น นางชาลินีเทพธิดา ในดาวดึงสพภพ ซึ่งในอดีตชาติที่ นับแต่ชาตินั้นไป ได้เคยเป็น
ภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระเห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาผ้าอยู่ จึงได้เอาผ้าอย่างดี ผืน กว้าง ศอก
ยาว ๑๓ ศอก มาเพื่อตั้งใจถวายพระเถระเจ้า แต่พลันคิดได้ว่า หากถวายตรงๆดังที่คิดไว้ พระเถระเจ้าอาจ
ไม่รับ เราจะจัดถวายแบบผ้าบังสุกุล ซึ่งเรียกว่าผ้าป่าเถิด คิดดังนั้นแล้ว ก็กำหนดดูทางที่พระเถระเจ้าจะ
เดินผ่านมา แล้วเอาผ้าทั้งผืนนั้นวางไว้ใกล้ทาง เอาหยากเยื่อถมไว้ เหลือชายผ้าไว้หน่อยหนึ่งพอที่
พระเถระผ่านมาจะเห็นได้ แล้วหลีกไป

ครั้นพระอนุรุทธเถระเจ้าเดินแสวงหาผ้าผ่านมาทางนั้น เห็นชายผ้าที่หยากเยื่อทับถมอยู่ จึงได้ถือเอา
โดยสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล และเมื่อเห็นว่าผ้ามีจำนวนมากพอจะทำจีวรได้ ก็เดินทางกลับ
พระเวฬุวันวิหาร บอกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบว่า ท่านจะทำจีวรขอให้พระสงฆ์มาร่วมกันช่วยจัดช่วยทำ

เนื่องจากเวลานั้น การทำจีวรเป็นธุระของพระ จะต้องจัดต้องทำกันเองทั้งสิ้น คฤหัสถ์มิได้เกี่ยวข้อง คฤหัสถ์
มีธุระเพียงจัดผ้าถวายเท่านั้นและก็ถวายเป็นผ้าขาว พระต้องเอาไปกะตัดเย็บย้อมเอาเอง ทั้งคฤหัสถ์ก็ไม่รู้
ไม่เข้าใจในงานตัดเย็บจีวร ซึ่งผิดตรงข้ามกับในปัจจุบันนี้ ความจริงแม้ในเวลานี้ ถึงคฤหัสถ์ก็ดูเหมือนจะ
เข้าใจตัดเย็บจีวรแต่เฉพาะผู้เป็นช่างเท่านั้น มิได้ตัดเย็บเป็นทั่วไปทุกคน แต่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลตัดเย็บ
เป็นทุกรูป เพราะเป็นหน้าที่ของท่านจะต้องตัดเย็บใช้เอง ไม่นิยมใช้ผ้าที่คฤหัสถ์ตัดเย็บถวาย

เมื่อพระสงฆ์สาวกได้ทราบว่า พระอนุรุทธเถระเจ้าจะทำจีวร ต่างก็มาพร้อมเพรียงกัน ตลอดพระมหาสาวก เช่น
พระมหากัสสป พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ก็ได้มา
ร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธอย่างน่าสรรเสริญ ต่างรับแบ่งงานออกทำกันตามสามารถทุกองค์ แม้
พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระเมตตาเสด็จประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่ช่วยเย็บผ้ารูปใดด้ายหมด
ก็ส่งเข็มถวายพระศาสดาก็ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่มวลพระสงฆ์สาวกที่เข้ามาร่วมทำจีวร
ร่วมกัน

อนึ่ง ในการเลี้ยงดูพระสาวกที่มาร่วมทำจีวรครั้งนี้ นอกจากพระโมคคัลลานเถระ ในฐานะเป็นผู้ใหญ่
ควบคุมกิจการทั่วไป จะพึงสอดส่องให้ความสะดวกแก่พระสาวกทั้งหลายแล้วยังนางชาลินีเทพธิดาเจ้าของ
ผ้าบังสุกุล ก็ได้ติดตามพระอนุรุทธเถระมาถึงวิหาร ครั้นเห็นพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก มีพระสัมพุทธเจ้าเป็น
ประมุข เสด็จมาประทับเป็นประธาน ทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระมีความยินดีมาก ได้จำแลงกายเป็นอุบาสิกา
เข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้านว่า เวลานี้พระสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกได้ประกอบพิธีทำจีวรถวาย
พระอนุรุทธเถระ ควรที่เราทั้งหลายจะจัดข้าวยาคูและขัชชโภชนาหารถวายพระสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็น
ประมุข เพื่อเราทั้งหลายจะพึงเป็นผู้มีส่วนบุญในการนี้ด้วย ต่อมาไม่ช้าก็มีคนใจบุญ นำอาหารอันประณีต
มาถวายพระสงฆ์เป็นอันมากตามคำชักชวนของนางชาลินีเทพธิดา พระสงฆ์ทั้งหลายต่างก็มีความสะดวก
สบายด้วยอาหารทั่วกัน ในวันนั้นเอง ผ้าจีวรอันประณีต มีค่ามากเกิดแต่ฝีมือของพระสงฆ์สาวกพร้อมกัน
กะ ตัด เย็บ และย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับเป็นประธานรับงานสนเข็มให้ ก็สำเร็จ
เรียบร้อยตกเป็นสมบัติอันมีค่าของพระอนุรุทธเถระเจ้าสมประสงค์ .

 


จบตำนานพระพุทธรูป ปางสนเข็ม แต่เพียงนี้ .