ปางที่ ๔๖
ปางขับพระวักกลิ

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา
พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ เอาฝ่าพระหัตถ์เข้าใน  หันหลังพระหัตถ์ออกข้างนอก  
เป็นกิริยาโบกหลังพระหัตถ์ออก แสดงอาการขับไล่ออกไป

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

ในเมืองสาวัตถี มีมานพคนหนึ่ง ชื่อ วักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง ครั้นเจริญวัยได้ศึกษาศิลปวิทยาแล้ว
ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานอยู่ในพระนครสาวัตถี วันหนึ่งวักกลิมานพได้เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไป
บิณฑบาต พยายามวิเคราะห์ดูพระวรกายของพระบรมศาสดา ซึ่งงามพร้อมด้วยพระลักษณะอันหาตำหนิมิได้
ทั้งพระกิริยาอาการที่เสด็จเยื้องกรายก็งามเป็นสง่า น่าชมยิ่งนัก เดินติดตามชมอยู่ไม่รู้จักอิ่ม จึงคิดแต่ในใจว่า
เราเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเพศของผู้ครองเรือนเช่นนี้ ยากที่จะได้ชมใกล้ๆ จะได้ชมบ้างก็เป็นครั้งคราว ไม่มีโอกาส
จะได้ชมเสมอไป ถ้าเราได้ออกบวชเป็นบรรพชิตจะเป็นทางให้เราได้ชมอย่างใกล้ชิด และได้ชมตลอดกาลด้วย
ครั้นคิดตกลงใจเช่นนี้แล้ว จึงได้สละบ้านเรือนพร้อมทรัพย์สมบัติออกบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระวักกลิบวชแล้วก็ไม่สนใจในการท่องบ่น เล่าเรียน และเจริญธรรมกัมมัฏฐานแต่อย่างใด พยายาม
หาโอกาสเข้าใกล้พระบรมศาสดามากที่สุด ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกทิศทุกทาง เพื่อให้สมเจตนาที่ออก
บวชสุดแต่ว่าตนอยู่ที่ใดจะเห็นพระบรมศาสดาได้ ก็พยายามไปอยู่ในที่นั้นด้วยความรัก ด้วยความพอใจใน
ความงามของพระพุทธสรีระเป็นอันมาก

พระบรมศาสดาแม้จะทรงทราบพฤติการณ์ของพระวักกลิที่ประพฤติอยู่เช่นนั้น ก็มิได้ทรงรับสั่งอะไรๆ ทรงรอ
เวลาญาณบารมีของพระวักกลิอยู่ต่อมาทราบด้วยพระญาณว่า ญาณบารมีในอันจะได้บรรลุมรรคผลของ
พระวักกลิแก่กล้าดีแล้ว จึงทรงประทานโอวาทแก่ท่านว่า :-

วักกลิ ! เธอต้องการอะไร ด้วยการดูร่างกายอันเปื้อยเน่านี้ วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นจึงจะนับว่าเห็นเรา ผู้ใด
เห็นเราผู้นั้นย่อมเล็งเห็นธรรม คือว่า ผู้ที่เห็นเราโดยไม่เห็นธรรม หาได้ไม่ และผู้เห็นธรรมดีแล้วนั้นแล ย่อม
จะเห็นเราผู้ตถาคตโดยประจักษ์แท้ อธิบายว่า จงพยายามมองดูพระตถาคตเจ้าในธรรมเถิด อย่ามองดู
พระตถาคตในร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้เลย เพราะอะไร ? เพราะผู้ที่มองเห็นพระตถาคตเจ้าในธรรมเท่านั้น จึงจะ
นับว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง

แม้พระวักกลิจะได้รับพระโอวาทที่พระบรมศาสดามีพระมหากรุณาทรงประทานอย่างนี้แล้ว ก็ไม่อาจจะระงับ
การชมพระบรมศาสดาแล้วไปในที่ใดๆได้ คงติดตามดูพระบรมศาสดาอยู่อย่างนั้นเอง

พระบรมศาสดาทรงดำริว่า พระภิกษุรูปนี้ถ้าไม่ประสบความสลดใจแล้ว น่าจะไม่ได้ตรัสรู้ ดังนั้น ครั้นจวนใกล้
วันเข้าพรรษาจึงได้เสด็จไปพระนครราชคฤห์ พระวักกลิก็ตามเสด็จไปด้วย พอถึงวันเข้าพรรษา พระศาสดาก็
ทรงประณามขับพระวักกลิด้วยพระวาจาว่า "จงออกไป วักกลิ ."

ความจริง พระวาจาที่พระศาสดาทรงตรัสประณาม ฟังดูก็ไม่น่าจะรุนแรง ให้ช้ำอกช้ำใจเท่าใด แต่เพราะ
พระวาจาเช่นนั้นของพระศาสดาซึ่งมากด้วยพระมหากรุณา นานๆ จะมีสักครั้ง จึงเป็นพระวาจารุนแรง มีอำนาจ
เหนือสิ่งใดๆ ซึ่งทุกคนที่ถูกรับสั่งเช่นนั้นจะต้องปฏิบัติตามทันที เป็นปกาสิตที่จะขัดแย้งมิได้

ดังนั้น เมื่พระวักกลิถูกประณามเช่นนั้น จึงในสลดใจมากด้วยไม่เคยนึกเคยฝันว่าตยจะต้องได้รับโทษอันหนัก
เช่นนั้น นึกแต่ในใจว่าเมื่อพระศาสดาไม่ทรงตรัสกะเราตลอดเวลา เดือน เราเข้าหน้าไม่ได้ การอยู่ของเราก็
ไม่มีความหมาย พระวักกลิรำพึงรำพันต่อไปด้วยความเสียใจว่า ตายเสียดีกว่า การมีชีวิตอยู่สำหรับเราไม่มี
ประโยชน์อะไรแล้ว เวลานี้ก้นเหวเป็นเหมาะที่สุด เมื่อพระวักกลิหมดอาลัยในชีวิตเช่นนั้นแล้ว ก็บ่ายหน้าเดิน
ขึ้นยอดภูเขาคิชฌกูฎ โดยหวังกระโดดเหวตาย ด้วยความโศกเป็นกำลัง

ด้วยความเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ด้วยความเสียสละอันแรงกล้า และด้วยความพยายามครั้งสุดท้ายในการเดินทาง
ขึ้นยอดภูเขาคิชฌกูฎ ไม่นานนักพักเดียวเท่านั้น พระวักกลิก็นำร่างกายขึ้นไปปรากฎอยู่บนยอดผาอันชันหน้า
ปากเหวอันลึก มองดูก้นเหวเป็นที่ระงับทุกข์ เหมาะสมกับที่ตนจะหอบร่างลงไปนอนสงบสุขในยามนี้อย่างยิ่ง
แล้วยกสายตาจากก้นเหวทอดไปดูพระเวฬุวันมหาวิหาร รำพึงถึงพระพุทธคุณที่ทรงบริบูรณ์พร้อมทุกประการ
วิเศษสุดเหนือเทวดามนุษย์ทั้งมวล แต่ตนนั้นอาภัพไม่มีบุญวาสนา ที่จะได้เดินตามรอยพระยุคลบาทในชาติ
นี้เสียแล้ว

ขณะนั้น พระศาสดาทรงทราบการกระทำของพระวักกลิสิ้นเชิงแล้ว ทรงดำริว่า ภิกษุรูปนี้ถ้าไม่ได้ความสบาย
ใจด้วยการปลอบโยนจากเราแล้ว น่าที่จะทำลายอุปนิสัยแห่งมรรคผลให้พินาศเสียเป็นแน่แท้ อาศัยพระมหา
กรุณาอันแรงกล้าได้ทรงเปล่งพระรัศมี ให้พระรูปของพระองค์ปรากฎแก่พระวักกลิประดุจจะว่ายืนอยู่ในที่
เฉพาะหน้า

พระวักกลิได้เห็นพระบรมศาสดา ประหนึ่งว่าเสด็จมาปรากฎพระกายอยู่ในที่ใกล้มีพระพักตร์แจ่มใสเบิกบาน
แสดงพระเมตตาเช่นนั้น ก็ดีใจระงับความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงถึงปานนั้นได้ทันที ประคองอัญชลีถวาย
บังคมพระบรมศาสดาด้วยความเคารพ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประทานชีวิตอันสดชื่นคืน
ให้แก่ตนในเวลานั้น

เมื่อพระศาสดาทรงให้ความปีติและปราโมทย์อันแรงกล้าเกิดขึ้นแก่พระวักกลิเหมือนเทพเจ้าจะทำสระน้ำ
อันแห้งจนแตกระแหงให้เต็มด้วยน้ำฝนจึงตรัสว่า ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ เป็นอาทิ ความว่า ภิกษุที่มีใจมาก
ด้วยความปราโมทย์ ผ่องใสอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าย่อมบรรลุสันตบท คือ พระนิพพาน เป็นที่เข้าไป
ระงับสังขาร มีความสุขแล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออกประทานแก่พระวักกลิพร้อมด้วยพระวาจา มาเถิด วักกลิ
อย่ากลัวเลยจงมองดูตถาคตเสียให้สบายใจ ตถาคตจะยกเธอซึ่งกำลังจมอยู่ในกองทุกข์บีบคั้นเหมือน
ดวงจันทร์ที่ถูกราหูบีบคั้นให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้นเสีย

พระวักกลิเกิดความปีติปราโมทย์อย่างแรงกล้า ชนิดอุเพงคาปีติในเวลานั้น พลันคิดว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งได้ยินพระสุรเสียงที่ตรัสเรียกหา เราจะไปเฝ้าพระองค์ทางใหนดีหนอ เมื่อยังไม่เห็นทางที่จะไป
ร่างกายท่านได้ลอยขึ้นไปในอากาศ ตรงไปทางพระพักตร์พระศาสดาที่แลเห็นอยู่ ท่านใคร่ครวญดูพระวาจา
ที่ตรัสสอนในขณะที่ยืนอยู่บนยอดภูเขาตั้งแต่บาทแรกของคาถาเป็นต้นไป พร้อมกับข่มความปีติที่ทำให้ใจ
ฟูเกินไปลงเสีย ก็พลันได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณในอากาศนั้นเอง
ถวายบังคมพระตถาคเจ้าแล้ว ลอยลงมาเฝ้าพระองค์ยังที่ประทับด้วยคารวะอันสูง ต่อมาพระศาสดาได้ทรง
ตั้งท่านไว้ในอัครฐานของพระสาวก ในคณะสัทธาธิมุตต์ด้วยกัน .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางขับพระวักกลิ แต่เพียงนี้ .