ปางที่ ๔๓
ปางชี้อสุภ

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้องลงข้างพระกายตามปกติ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้าเสมอพระอุระ เป็นอาการชี้อสุภ

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

สมัยพุทธกาล ที่พระนครราชคฤห์ มีหญิงนครโสเภณีคนหนึ่งรูปงามมาก ทั้งฉลาดในการร่ายรำและขับร้อง
จับใจของบุรุษให้มัวเมา หลงติดอยู่ในความงามของรูปและความไพเราะของเสียงขับร้อง ทั้งในท่าทีของ
การร่ายรำ มีมีสตรีใดเทียม สตรีนี้ชื่อว่า นางสิริมา เป็นน้องสาวของนายแพทย์ชีวก โกมารภัจจ์ บุรุษทีมี
ความประสงค์จะขอเข้าร่วมนอนด้วยจะต้องจ่ายทรัพย์ให้แก่นาง ๑,ooo กหาปนะต่อ คืน เท่ากับคืนละ
๔,ooo บาท ในสมัยนั้น ซึ่งค่าของเงินแพงมาก ดังนั้นนางสิริมาจึงอยู่ในฐานะเป็นนครโสเภณีชั้นสูง
ได้รับยกย่องในเวลานั้น

วันหนึ่ง นางอุตตราเสฏฐินี ผู้เป็นภรรยาของท่านเสฏฐีบุตรในพระนครราชคฤห์ แต่ท่านเสฏฐีบุตรผู้นี้เป็น
มิจฉาทิฎฐิ ส่วนนางอุตตราเป็นอุบาสิกา มั่นคงในพระพุทธศาสนา นับแต่นางได้จากเรือนมาอยู่ร่วมกับ
ท่านเสฏฐีบุตรแล้ว ไม่มีเวลาได้บำเพ็ญทานรักษาศีล และฟังพระธรรมเทศนาเลย เป็นความลำบากใจมาก
สุดที่จะทนทานได้ นางจึงส่งคนไปแจ้งเรื่องความเดือดร้อนให้ท่านปุณณเสฏฐีผู้เป็นบิดาทราบ พร้อมกับ
ขอเงินก้อนหนึ่งเพื่อเอาบำเพ็ญกุศล เมื่อนางอุตตราได้เงินมาสมใจแล้ว จึงได้ขอโอกาสทำบุญต่อสามี
๑๕ วัน โดยนางจะไปหานางสิริมา มาปฏิบัติแทนตัว ครั้นสามียินยอมแล้ว นางก็ให้ไปเชิญนางสิริมา
มาพบ และขอร้องนางสิริมาให้ช่วยอนุเคราะห์รับธุระปฏิบัติสามีให้ ๑๕ วัน โดยจะยอมจ่ายเงินตอบสนอง
งานให้ตามระเบียบ แม้อาหารการบริโภคก็จะไม่ให้เดือดร้อน จะบำรุงให้มีความสุขทุกประการ ตลอดเวลา
ที่มารับหน้าที่แทนชั่วคราวนั้น

ครั้นนางสิริมาตกลงรับหน้าที่เป็นภริยาชั่วคราวแทนตัวแล้ว นางอุตตราก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่
พระเวฬุวันวิหาร กราบทูลเรื่องของนางให้ทรงทราบดีแล้ว ก็ทูลอาราธนาให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
เสด็จไปเสวยอาหารบิณฑบาตที่เรือนตน ตลอดเวลา ๑๕ วัน พระศาสดาทรงพระมหากรุณาได้ทรงอนุเคราะห์
พาพระสงฆ์ไปทรงภัตตกิจ ที่เรือนนางอุตตราอุบาสิกา และทรงแสดงธรรมโปรดทุกวัน นางอุตตราก็นำทาส
และคนใช้ในบ้านเข้าโรงครัวใหญ่ จัดทำอาหารด้วยมือของนางเองอยู่ตลอดเวลาด้วยศรัทธาและปีติ
ปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง

ครั้นวันที่ ๑๔ นางอุตตราได้ตระเตรียมอาหารเป็นการใหญ่ ด้วยพรุ่งนี้จะถวายอาหารวันสุดท้ายแล้ว ขณะนั้น
เสฏฐีบุตรสามีของนางอุตตราซึ่งเป็นมิจฉาทิฎฐิ ยืนอยู่บนเรือน มองดูอยู่ที่หน้าต่าง เห็นภรรยาสาละวนอยู่
ด้วยการครัว ดูเนื้อตัวผ้าผ่อนเปรอะเปื้อนก็นึกด้วยอารมณ์ขันในใจว่า
"บัดซบจริงๆ ภรรยาของเรานี่ จะนั่งเป็นสุขอยู่บนเรือนสิไม่ชอบ" แล้วก็หลบเข้าเรือนไป

ขณะนั้นนางสิริมายืนเคียงข้างอยู่ เห็นเสฏฐีบุตรยิ้มๆ แล้วหลบไปเช่นนั้น กลับคิดไปเรื่องรักๆใคร่ๆ ว่า
เสฏฐีบุตรคงจะไม่พอใจนางอุตตราเป็นแน่ อาศัยที่นางสิริมาอยู่ในฐานะเป็นภริยาชั่วคราว มีความสุข
และเกียรติอันสูง ลืมตัวไปว่าเขาจ้างมา เข้าใจว่าตนเป็นภรรยา เป็นแม่เรือนของท่านเสฏฐีบุตร ก็เกิดความ
หึงหวง บันดาลโทสะขึ้นมาผลุนผลันลงจากเรือนตรงไปที่โรงครัว คว้าเอาทัพพีในมือคนทอดขนม ตักน้ำมัน
ในกะทะกำลังเดือดพล่าน เทรดนางอุตตราตั้งแต่ศีรษะลงไปจนทั่วตัว .

ด้วยอำนาจเมตตาจิตที่นางอุตตรามีอยู่ในนางสิริมา มิได้มีความโกรธเคืองในการเบียดเบียนนั้นเลย โดยนึกว่า
นางสิริมาเป็นเพื่อนร่วมบุญกุศลใหญ่ครั้งนี้ ถ้านางสิริมาไม่ช่วยรับภาระแม่เรือนให้แล้ว ที่ใหนตนจะมีโอกาส
ได้ทำบุญ ดังนั้นน้ำมันที่ราดลงบนศีรษะของนางจึงเย็นเหมือนน้ำหอมที่ชะโลมบนผิวกาย มิได้ระคายผิวกาย
ให้แสบร้อนแม้แต่น้อย

ขณะนั้น บรรดาคนครัวทั้งหมด พากันตกตะลึงไปชั่วครู่หนึ่ง ด้วยคิดไม่ถึงว่านางสิริมาจะมาทำร้ายนายผู้หญิง
ของตนถึงเพียงนั้น และแล้วในทันใดนั้นเองก็เครียดแค้นแทนนาย พากันถลันเข้าจิกผมนางสิริมากระชากมา
ตบให้ล้มลงไปนอนกลิ้งอยู่กับพื้น ปากก็พร่ำด่าเสียงสนั่นลั่นครัว

มิทันที่คนครัวทั้งหมดที่พากันวิ่งประดังเข้ามาลงมือตุ๊บตั๊บซ้ำเติมนางสิริมาให้ถึงด้วยความเครียดแค้น
นางอุตตราได้ลุกถลันยกมือขึ้นพร้อมกับห้ามว่า "อย่า ! อย่า !! ลูกทุกคนหยุด ถอยออกไป ลูก ! เจ้าไปทำร้าย
เพื่อนรักของแม่ทำไม ว่าแล้วก็เข้าไปประคองนางสิริมาให้ลุกขึ้น ลูบเนื้อลูบตัว พูดให้นางสิริมาเบาใจ
หายความสะดุ้งหวาดกลัว เตือนความรู้สึกให้คืนสู่สภาพเดิม

เมื่อนางสิริมาได้สติรู้สึกตัวว่า ตนหาใช่แม่เรือน หาใช่เจ้าของบ้านนี้ไม่ แท้เป็นเพียงคนรับจ้างนางอุตตรามา
ปฏิบัติสามีของเธอ ก็ละอายใจรู้สึกว่าตนประพฤติผิดมาก ยิ่งเห็นนางอุตตราไม่โกรธตอบซ้ำแสดงความมี
ไมตรีจิตด้วยวาจาและกิริยาน่ารักใครเช่นนี้ ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพยำเกรงซาบซึ้งในคุณสมบัติของนางอุตตรา
เป็นทวีคูณ จึงก้มลงกราบแทบเท้านางอุตตราร้องขอโทษ ด้วยถ้อยคำอันแสดงชัดว่าตนได้ทำผิดอย่างน่า
สงสาร

นางอุตตรากล่าวว่า หากแม่สิริมารู้สึกว่าทำผิดไปจริงๆ ฉันก็พลอยดีใจด้วย และถ้าแม่สิริมายังยินดีจะขอให้
อดโทษแล้ว ควรจะไปขอกะพระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาที่เคารพสูงสุดของดิฉัน

"ฉันยินดีปฏิบัติตามคำของเธอทุกประการ" นางสิริมาสารภาพ
"แต่ฉันยังไม่รู้จักกะพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งเธออ้างว่าเป็นพระบิดาที่เคารพสูงสุดของเธอนี่"

"ไม่เป็นการลำบากเลย แม่สิริมา" นางอุตตราเปิดทาง "พรุ่งนี้พระสัมพุทธเจ้าจะเสด็จมาเสวยเช้าที่เรือนฉัน
พร้อมด้วยพระสงฆ์หลายรูปด้วยกัน แม่สิริมาปลีกเวลามาเฝ้าพระองค์ที่เรือนฉันซีน๊ะ พระบิดาของฉันพระทัย
ดีมาก จะทรงเอ็นดูเธอ ฉันคิดว่าเธอจะเลื่อมใสและเคารพรักในพระเมตตาของพระบิดาฉันมากทีเดียว"

"คนอาภัพอย่างฉันเช่นนี้ หากพระสัมพุทธเจ้าจะทรงพระกรุณาโปรดอย่างเช่นเธอว่า ก็ดูจะมิเป็นคนมีวาสนา
มากไปรึ แม่อุตตรา !"

"เอาเถอะ แม่สิริมา เธอจะเห็นเอง ว่าแต่พรุ่งนี้เช้าอย่าลืมก็แล้วกัน"
"ฉันจะมาตามเวลา" นางสิริมาพูดแล้วก็กราบลานางอุตตราขึ้นเรือนไป

รุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จไปเรือนนางอุตตรา เพื่อภัตตกิจตามกำหนดอาราธนา
นางอุตตราได้พานางสิริมาพร้อมด้วยหญิงคนใช้เข้าเฝ้าถวายอภิวาท พร้อมด้วยกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น
ประกอบ เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอดโทษให้นางสิริมา กับเพื่อให้ทรงแสดงธรรมโปรดอีกด้วย

พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษ และทรงอนุโมทนาในธรรมจริยาของนางอุตตรา พร้อมกับ
ตรัสคาถาประทานด้วยว่า :-

บุคคลควรจะชำนะความโกรธของเขา
ด้วยความไม่โกรธของเรา
บุคคลควรจะชำนะความไม่ดีของเขา
ด้วยความดีของเรา
บุคคลควรจะชำนะความตระหนี่ด้วยความเสียสละ
บุคคลควรจะชำนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง

แล้วได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาโปรดนางสิริมากับหญิงคนใช้ให้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล

ในวันรุ่งขึ้น นางสิริมาได้ทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ไปเสวยอาหารบิณฑบาตในเรือน
ของตน ประกาศตนเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา พร้อมกับจัดตั้งนิพัทธาหารถวายพระสงฆ์ ขอให้
พระภัตตุเทศก์จัดพระภิกษุมารับอาหารบิณฑบาตในที่เรือนของตนวันละ รูป ทุกวัน จำเดิมแต่นั้นนางสิริมา
ก็หยุดกิจการนครโสเภณี บำเพ็ญกุศลฝักใฝ่อยู่แต่ในกองบุญในพระพุทธศาสนา

ต่อมาไม่นานนางสิริมาได้ป่วยด้วยโรคปัจจุบัน คือเพียงแต่เวลาเช้ายังลุกขึ้นใส่บาตรพระ รูป ที่เข้ามารับ
บาตรที่เรือนได้ พอเวลาเย็นก็ถึงแก่กรรม

พระเจ้าพิมพิสารได้ส่งราชบุรุษให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า บัดนี้นางสิริมา น้องสาวหมอชีวก
ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว จะทรงโปรดประการใด พระเจ้าค่ะ ในฐานะที่เธอเป็นสาวิกาของพระองค์

พระศาสดาตรัสสั่งให้ราชบุรุษกลับไปทูลว่า ขอให้รอการเผาศพนางสิริมาไว้ก่อน โดยให้เจ้าพนักงานนำศพ
นางสิริมาไปรักษาไว้ที่สุสานต่อล่วง วันแล้วจึงให้เผาได้ .

พระเจ้าพิมพิสาร ได้โปรดให้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์ทุกประการ ครั้นเวลาล่วงไปได้ วัน ศพนางสิริมา
ก็ขึ้นพองเต็มที่ น้ำเหลืองไหลออกจากทวารทั้ง กลิ่นศพเหม็นตระหลบสุสาน พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้
เจ้าพนักงานจัดงานพระราชทานเพลิงศพนางสิริมา โดยประกาศให้ประชาชนไปพร้อมกันที่สุสาน แม้พระองค์
พร้อมด้วยเสวกามาตย์ราชบริพารก็จะเสด็จ ทั้งได้โปรดให้กราบทูลพระศาสดาทรงทราบด้วย

ครั้นพระศาสดาทรงทราบแล้ว ก็โปรดให้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลายให้ไปพร้อมกันเพื่อเยี่ยมศพนางสิริมา
ที่สุสาน ในงานพระราชทานเพลิงศพนางสิริมา ณ บ่ายวันนี้

ครั้นได้เวลา พระศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ ก็เสด็จไปยังสุสานนั้นได้ทรงนำพระสงฆ์ประทับยืนทอดพระเนตร
ดูศพอยู่ข้างหนึ่ง ภิกษุณีสงฆ์ก็ยืนอยู่ข้างหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยราชบริพารก็ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง
เหล่าอุบาสกอุบาสิกา ประชาชนชายหญิง ก็พากันยืนสงบกิริยาดูอยู่ข้างหนึ่ง

พระศาสดาทรงรับสั่งถามพระเจ้าพิมพิสารว่า "มหาบพิตรใครนั่น"
"น้องสาวชีวก ชื่อ สิริมา พระเจ้าค่ะ"
"นั่น ! นางสิริมา ถวายพระพร"
"ใช่ พระเจ้าค่ะ"

"ถ้าเช่นนั้น ขอมหาบพิตรได้โปรดให้ขายทอดตลาดนางสิริมา ใครให้ ๑,ooo กหาปนะั ก็ให้รับเอานางสิริมา
ไปได้ทันที"

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารโปรดให้ประกาศตามพระพุทธพจน์แล้ว ก็หามีผู้ใดใครผู้หนึ่งมารับซื้อไม่ ดังนั้น จึงโปรดให้
ลดราคาลงโดยลำดับคือ ห้าร้อย กหาปนะ , สองร้อยห้าสิบ , สองร้อย , หนึ่งร้อย , ห้าสิบ , สิบห้า , สิบ กหาปนะ ,
ห้า กหาปนะ , หนึ่ง กหาปนะ , ครึ่ง กหาปนะ , บาท , มาสก , กากนิก , แม้ลดลงจนที่สุดของราคาแล้ว
ก็ยังไม่ปรากฎคนซื้อ ในที่สุดก็โปรดรับสั่งว่า "ให้เปล่า" ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีคนรับ จึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า
"แม้แต่ให้เปล่า ก็ไม่มีคนต้องการพระเจ้าค่ะ"

พระศาสดาทรงชี้ศพนางสิริมา พร้อมกับรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงดูนั่น ! สตรีรูปงาม เป็นที่รักใคร่ของ
มหาชนในนครนี้ แต่ก่อนจะได้ชมนางหนึ่งวันจะต้องจ่ายทรัพย์ให้นางถึง ๑,ooo กหาปนะ บัดนี้แม้จะให้เปล่า
ก็ไม่มีคนต้องการ ภิกษุทั้งหลาย รูปกายนี้ถึงความสิ้นไปเสื่อมไปอย่างนี้แหละ ท่านทั้งหลาย จงพิจารณาดู
อัตตภาพอันอาดูรให้ตระหนักเถิด แล้วตรัสคาถาประทานธรรมเทศนาแก่มหาชนที่ประชุมอยู่ในสุสานนั้น :-

"สูเจ้าพิจารณาดูร่างกายที่ตกแต่งให้งดงามด้วยอาภรณ์พรรณต่างๆเพียบพร้อมด้วยอังคาพยพน้อยใหญ่
มีทวารทั้ง สำหรับเป็นทางให้สิ่งปฏิกูลไหลเข้าไหลออกอยู่เป็นประจำ ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกหลายร้อยท่อน
อาดูรด้วยความไม่สบายเหมือนเป็นไข้ อันจะต้องแก้ไขด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ที่มหาชนมี
ความใคร่กันอยู่โดยมาก แต่หาความยั่งยืนมั่นคงมิได้เลย ในที่สุดก็แปรสภาพมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งทุกคนก็ต้อง
เป็นเช่นนี้เหมือนกัน"

พระธรรมเทศนาได้อำนวยอริยมรรคอริยผลแก่มหาชนที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอันมาก .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางชี้อสุภ แต่เพียงนี้ .