ปางที่ ๓๙
ปางประทับยืน

 

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถยืนตามปกติ ห้อยพระหัตถ์ทั้งสองลงชิดพระกายอย่างสบาย ๆ
แสดงว่า ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรอันจะทำให้ไหวพระกายคือประทับยืนเฉย ๆ
น่าจะเรียกตามเหตุว่า " ปางเมตตาการุญ "

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

พระพุทธรูปปางนี้ไม่มีตำนานอันควรจะนำมาเล่า แต่เนื่องด้วยพระพุทธจริยาสำหรับปางนี้
เป็นที่ประทับอยู่ในความทรงจำของพระสาวกทั้งหลาย คือในยามเช้าของทุกๆวันไม่ว่าจะเป็นเวลาเสด็จ
เข้าไปในบ้านที่คนใจบุญทูลอาราธนาไว้พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกก็ดี เมื่อเสด็จออกจากพระคันธกุฎีแล้ว
จะต้องมาประทับยืนในท่านี้ ณ ที่หน้าพระคันธกุฎีเป็นปกติ เพื่อทอดพระเนตรดูความพร้อมเพรียงของ
พระสงฆ์สาวก เมื่อทรงเห็นพระสงฆ์สาวกพร้อมเพรียงดีแล้ว ก็เสด็จเป็นประธานนำสงฆ์ไป

ความจริง ก่อนแต่จะเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เพื่อเป็นประธานนำพระสงฆ์สาวกไปนั้น พระพุทธอุปัฎฐาก
มีพระอานนทเถระเจ้าเป็นต้นจะต้องเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบก่อนแล้วว่า พระสงฆ์พร้อมแล้ว เป็นเวลา
สมควรที่พระองค์จะเสด็จได้แล้ว แม้อย่างนั้นเมื่อเสด็จออกมาแล้ว ก็ต้องเสด็จมาประทับยืนที่หน้าพระคันธกุฏี
ก่อน เพื่อทอดพระเนตรดูความพร้อมเพรียงความเป็นระเบียบอันดีของพระสงฆ์ ไม่ทรงด่วนเสด็จนำพระสงฆ์
ไปทันทีโดยมิได้ทันชมความพรั่งพร้อมเป็นอันดีของพระสงฆ์ ต่อเมื่อทรงได้ความยินดี ตอบพระสงฆ์ให้ทราบ
ว่า ทรงพอพระทัยในความพร้อมเพรียงเป็นอันดีของพระสงฆ์แล้ว จึงเสด็จนำพระสงฆ์ไป

พระพุทธจริยาอันนี้ จึงเป็นพระจริยาวัตรที่สำแดงซึ่งน้ำพระทัยให้ปรากฎว่าทรงมากด้วยพระเมตตา , พระกรุณา
ในพระสงฆ์สาวก ทั้งเป็นเนติอย่างดีสำหรับพระสงฆ์สาวกผู้เจ้าหมู่เจ้าคณะจะพึงอนุวัตรตาม
เป็นความงามในพระธรรมวินัยนี้ .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางประทับยืน แต่เพียงนี้ .