ปางที่ ๓๔
ปางห้ามแก่นจันทน์

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวา ตั้งฝ่าพระหัตถ์ซ้ายออกไปข้างหน้า
เสมอพระอุระ เป็นกิริยาห้าม

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

ตำนานพระพุทธรูปปางนี้ ไม่ปรากฎในบาลีฝ่ายเราแต่ประการใดเลย แต่เป็นนิยายปรำปรา คือทราบกันสืบๆ
มาว่า ลางทีอาจมีในคัมภีร์ของพระสงฆ์ฝ่ายใต้ก็ได้ น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องหลังจากสังคายนาพระธรรมวินัย
แล้ว จึงมิได้ปรากฏในคำภีร์ แต่ตำนานพระห้ามพระแก่นจันทน์ กลับเป็นตำนานเก่าก่อนพระพุทธรูปทั้งหมด
แสดงว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรก ด้วยมีในสมัยเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ แต่ประหลาดที่ฝ่ายเรา
ก็ไม่ปฏิเสธยอมรับเรื่องเข้าไว้โดยไม่มีหลักฐานสำหรับศึกษา คงเป็นแต่ที่ยอมรับรู้ ชรอยจะไม่เห็นเป็นเรื่อง
เสียหายแต่ประการใดกระมัง ดังนั้น เรื่องพระปางห้ามพระแก่นจันทรน์ จึงเป็นเรื่องปรำปราดังกล่าว ขอนำมา
เล่าสำหรับประดับความรู้ในเรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้ในที่นี้ด้วย

ในสมัยเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาในเทวพิภพ
ณ พระแท่นบัณฑุกัมพล เป็นเหตุให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลห่างจากพระบรมศาสดาเป็นเวลานาน มิได้พบเห็น
พระบรมศาสดาจารย์เป็นเวลาแรมเดือน ความเคารพรักได้กระตุ้นเตือนพระทัยให้ทรงระลึกถึง มีพระกมลรำพึง
รันจวนอยู่มิได้ขาด ด้วยพระองค์มีพระชนม์เป็นสหชาติเสมอด้วยพระชนม์ของพระบรมศาสดา จึงได้รับสั่งให้
เจ้าพนักงานหาท่อนไม้จันทน์หอมอย่างดีมา แล้วโปรดให้ช่างไม้ที่มีฝีมือแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางประทับนั่ง
มีพระรูปพระโฉมโนมพรรณงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา แล้วโปรดให้อันเชิญพระไม้แก่นจันทน์มา
ประดิษฐานยังพระราชมณเฑียร ที่พระสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับมาแต่ก่อน พอบรรเทาความอาวรณ์
ได้สบายพระทัยเมื่อยามได้ทอดพระเนตร ครั้นภายหลังเมื่อพระบรมโลกเชฏฐ์เสด็จกลับจากสรวงสวรรค์แล้ว
เสด็จมาพระนครสาวัตถีจึงพระราชาบดีปัสเสนทิโกศลได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพล ให้เสด็จไปยัง
พระราชนิเวศน์เพื่อให้พระบรมโลกเชฏฐ์ทอดพระเนตรพระไม้แก่นจันทน์อันงามแม้นเหมือนพระรูปดั่งนิรมิตร
ซึ่งได้โปรดให้นายช่างประดิษฐ์จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์ ครั้นสมเด็จพระพุทธชินวรเสด็จถึงซึ่งพระราชสถาน
ที่พระไม้แก่นจันทน์ทำเสมือนหนึ่งว่ามีจิตรู้จักปฏิสันถารกิจที่ควรจะต้องลุกขึ้นถวายความเคารพพระศาสดา
ได้ขยับพระองค์เขยื่อนเลื่อนลงมาจากพระแท่นที่ ครั้งนั้นพระมหามุนี จึงได้ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นห้าม
พร้อมด้วยตรัสว่า :-

เอวํ นิสีทถ ขอพระองค์ทรงประทับนั่งอยู่อย่างนั้นแล

ครั้นสิ้นกระแสพระพุทธนุญาต พระไม้แก่นจันทน์ก็ลีลาศขึ้นประทับนั่งยังพระแท่นเดิมนั้น
พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงประสบความอัศจรรย์ก็ทรงโสมนัสเลื่อมใสอัศจรรย์ใจในพระบารมี
ได้ทรงอาราธนาพระชินสีห์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสวยอาหารบิณฑบาต ท้าวเธอได้เสด็จ
อังคาสด้วยพระหัตถ์ด้วยความเคารพเป็นอันดี ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระชินสีห์ก็ถวายพระพรลา
พาพระสงฆ์เสด็จกลับไปประทับยังพระเชตวนาราม .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางห้ามแก่นจัทน์ แต่เพียงนี้ .