ปางที่ ๓o
ปางโปรดพุทธบิดา

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้ว
อันเป็นกิริยาแสดงธรรมโปรด

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดาทรงพาพระสาวกเสด็จออกบิณฑบาตรในพระนคร กบิลพัสดุ์ ซึ่งมีเค้าเรื่องต่อจาก
ประวัติพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรข้างต้น ครั้นความทราบถึงพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ทรงเสียพระทัย
รีบเสด็จจากพระที่นั่งไปพบพระบรมศาสดารับสั่งพ้อต่อว่าพระบรมศาสดาด้วยความน้อยพระทัย
ที่ทรงเห็นการที่พระบรมศาสดาทรงบาตรเสด็จโปรดสัตว์นั้นเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระอิสสริยยศ อันจะทำ
ให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่า สิ้นเนื้อประดาตัวไม่มีกิน ไม่มีญาติมิตรอุปถัมภ์ พระพุทธบิดาก็ไม่รับรองรังเกียจ
ซึ่งบรรดากษัตริย์ทั้งหลายจะไม่ทรงทำกัน เป็นเรื่องที่น่าอัปยศมาก ด้วยพระวาจาเพียงสั้นๆว่า
"สิทธัตถะ ประเพณีเราเคยทำเช่นนี้หรือ" อธิบายว่า เมื่อไม่มีกษัตริย์องค์ใหนประเทศใดในโลกเขาทำกัน
ทั้งไม่มีประเพณีที่เจ้านายในราชวงศ์ใหนทรงประพฤติกัน โดยการถือภาชนะเที่ยวขออาหารชาวบ้านไป
เลี้ยงชีวิตเช่นนี้ อันเป็นความประพฤติของคนจัณฑาลของยาจก เป็นความเสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างมาก
แล้วไฉนพระบรมพระศาสดาจึงทรงประพฤติเช่นนี้

พระบรมศาสดากลับทรงรับสั่งตอบ พระบิดาด้วยพระอาการปกติว่า "นี้เป็นประเพณีของตถาคต" อธิบายว่า
การเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นเนตติเป็นประเพณีของเราในฐานะที่พระบรมศาสดาทรงอยู่ในภาวะของสมณเพศ
ปกติเหล่ากอของสมณะจะต้องเที่ยวบิณฑบาต ซึ่งเป็นประเพณีของพระทั่วไป

แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่ทรงเข้าพระทัย โดยทรงถือมั่นว่า พระองค์เป็นกษัตริย์
แม้พระบรมศาสดาก็เป็นกษัตริย์ ธรรมดาของกษัตริย์ย่อมไม่มีประเพณีเลี้ยงชีวิตด้วยการเที่ยวบิณฑบาต
ดังนั้น จึงรับสั่งย้ำอีกว่า "นี้เป็นประเพณีของเราหรือ" แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสยืนพระวาจาว่า
"นี้เป็นประเพณีของตถาคต"

เมื่อพระสุทโะทนะตรัสหมายถึงประเพณีกษัตริย์ แต่พระศาสดาตรัสหมายถึงประเพณีของพระอริยเจ้า
มีความหมายไม่ตรงกัน ซึ่งตวามจริงก็ถูกทั้งสองอย่าง แต่พระพุทธบิดาไม่ทรงทราบความจริงของ
พระวาจาที่พระบรมศาสดารับสั่ง ดังนั้น พระบรมศาสดา จึงได้ทรงอธิบายความหมายของวาจาที่ตรัสตอบ
พระพุทธบิดาว่า นับแต่พระองค์ได้สละราชสมบัติทั้งพระราชเทวีและพระโอรสออกจากพระนครไปอยู่ในป่า
ทรงผนวชอยู่ในเพศของสมณะ นับว่าพระองค์ขาดจากความเป็นกษัตริย์ ไม่มีความหมายในความเป็นเจ้านาย
ไม่มีประเพณีของกษัตริย์อันใดที่พระองค์ทรงถืออยู่แล้ว และนับแต่นั้นพระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ใน
ประเพณีของสมณะประพฤติตามทางของพระอริยเจ้าแต่ปางก่อนที่ประพฤติมา
มีการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิตเป็นจริยานุวัตรแล้วพระบรมศาสดาก็ทรงเล่าการบำเพ็ญเพียรของพระองค์
ที่ทรงแสวงหาพระสัมโพธิญาณเพื่อความตรัสรู้เพื่อความหลุดพ้นจากสรรพกิเลส
ในที่สุดก็ทรงทำลายตัณหาเป็นสมุจเฉทปหานตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ควงไม้อสัตถพฤกษ์
โพธิมณฑล วันเพ็ญวิสาขมาส กลางเดือน ทรงเปลื้องปลดมาระทิฎฐิที่หุ้มห่อดวงปัญญาของ
พระพุทธบิดา ให้ทรงเห็นคุณค่าของสมณะบ้างแล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยวังสิกสูตรโปรดพระพุทธบิดา
ตามนัยพระบาลีว่า อุตฺติฎฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย เป็นต้น โดยพระอิริยาบถยืนทรงบาตรอยู่อย่างนั้น แม้
พระพุทธบิดาก็ทรงประทับยืนฟังพระโอวาทของพระศาสดาในทำนองเดียวกัน เมื่อจบเทศนาพระพุทธบิดา
ก็ได้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้วทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลายไปเสวยเช้า
ที่พระราชนิเวศน์ พร้อมกัน .

 


จบตำนานพระพุทธรูป ปางโปรดพุทธบิดา แต่เพียงนี้ .