ปางที่ ๒๖
ปางประทับเรือ

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถนั่งประทับบนพระแท่น ห้อยพระบาททั้งสองข้างวางอยู่บนดอกบัว
พระหัตถ์ทั้งสองคว่ำวางที่พระชานุทั้งสอง

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในเวฬุวนารามอาศัยกรุงราชคฤห์มหานครเป็นที่โคจร
ภิกขาจาร และประทานพระธรรมเทศนา โปรดสัตว์ผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อยให้เห็นแจ้งในอริยธรรม
ทรงประทานข้อปฏิบัติแต่เบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องสูง ทรงแนะนำชักจูงผู้หลงดำเนินในทางผิด
ให้เกิดกุศลจิตกลับมาดำเนินในทางชอบ ปฏิบัติตามระบอบแบบอริยบรรพ์ อันเป็นทางเข้าถึงซึ่งสวรรค์
และนิพพาน เกียรติศัพท์ของพระสัมพุทธเจ้าก็แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศ ครอบงำกำลังของเหล่าเดียรถีย์
มิจฉาจิตให้สิ้นแรง ดังหิ่งห้อยต้องสิ้นแสงในยามพระอาทิตย์อุทัย มหาชนพากันเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ
น้อมจิตเข้าถึงซึ่งพระไตรสรณะตลอดกาล พร้อมกันบำรุงพระศาสนาด้วยไทยทานเป็นนิรันดร
พระศาสนาก็รุ่งเรืองสถาพรดังร่มโพธิ์ ร่มไทร ที่สมบูรณ์ด้วยดอกใบทุกก้านกิ่งให้ความร่มเย็นแก่ปวงสัตว์
ที่เข้ามาพึ่งพิงทุกทิวาราตรี

สมัยนั้น พระนครไพศาลี ซึ่งปรากฎว่าเป็นราชธานีที่กว้างใหญ่เป็นที่เจริญด้วยวิทยาลัยและเศรษฐกิจ
มากด้วยพ่อค้าพานิชพำนักอยู่ดูสลอน ทั้งแผ่นดินก็เป็นทรัพยากรควรแก่การเพาะปลูกทั้งไม้หมากรากลูก
และดอกใบเจริญยิ่งกว่านครใดๆ ในแคว้นวัชชี ดังนั้นชาวเมืองไพศาลีจึงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน ตลอด
พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองราชธานินทร์ก็เป็นกษัตริย์มหาศาลเพียบพร้อมด้วยปราสาทราชศฤงคารงามวิจิตร
อีกอำมาตย์ราชปุโรหิตและโยธาทหาร ก็สามารถด้วยศิลปศาสตร์ราชการทุกถ้วนหน้าเป็นที่นิยมทั้ง
พระราชอุทยานสถานรื่นรมย์และสระโบกขรณีก็เป็นที่ยินดีเจริญตาเจริญจิตงามด้วยพฤกษานานาชนิด
อเนกประการประชาชนมีความชื่นบานทุกเวลาต่อมาสมัยหนึ่ง เมืองไพศาลีเกิดอาเพศ ประชาชน
ประสบอุบัติอย่างสาหัสด้วยทุพภิกขภัยพิบัติเกิดบีฑา คือ ข้าวกล้าในนาเสียหายแห้งตายเป็นส่วนมาก
ข้าวปลาหายากเพราะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงเป็นที่สุดบรรดาเหล่ามนุษย์ที่ขัดสน ยากจนเพราะ
เกียจคร้านการงานไม่นำพา รักแต่การเที่ยวเตร่เฮฮาเป็นอาจิณ การทำมาหากินไม่ใฝ่ฝัน ใส่ใจแต่การ
พนันในทางบาป จิตละโมภโลภลาภในทางผิดในที่สุดก็สิ้นคิดเพราะขัดสน ต้องทุกข์ทนต่อความหิว
ลงหน้านิ่วตาลายนอนตายอยู่เกลื่อนกลาด เป็นที่อเน็จอนาถอนิจจา

อนึ่งเล่า เมื่อตายแล้วก็ไม่มีใครนำพาในทรากศพ ทิ้งให้เน่าเหม็นกลิ่นตระหลบอยู่ริมทางดูเกลื่อนกลาด
ต่อนั้นมนุษย์ปีศาจในป่าก็พากันหลงไหลเข้าพระนคร กินศพมนุษย์ที่ม้วยมรณ์เป็นจำนวนมาก ที่ต้องตาย
ลงเพราะอดอยากหิวโหยโรยแรงลงดับจิตยังพวกที่ต้องสูญเสียชีวิตเพราะอหิวาตกโรคเพราะบ้านเรือน
โสโครกด้วยกลิ่นไอ เนื่องจากของกินของใช้ไม่สะอาด เป็นเชื้อโรคที่ร้ายกาจให้พลันตาย อหิวาต์พาให้
มนุษย์วอดวายเหลือประมาณยังปีศาจสันดานพาลที่แฝงอยู่พากันเข้าสิงสู่สำแดงฤทธิ์ ล้างผลาญชีวิต
ประชาชนให้วอดวายทุกวันวาร รวมเป็นภัย ประการ น่าสะพึงกลัวเพราะร้ายแรง คือ :-

๑. ทุพภิกขภัย เกิดจากข้าวยากหมากแพง ฝนแล้งข้าวตาย

๒. อมนุสสภัย เกิดจากภูติผีปีศาจทั้งหลายเบียดเบียน

๓. อหิวาตกภัย เกิดจากอหิวาตกโรค เพราะบ้านเรือนโสโครก อาหารสกปรกเป็นสมุฎฐาน

ภัยเกิดพร้อม ประการไม่เคยมี ชาวเมืองไพศาลีเคราะห์ร้ายมากที่มีกำลังก็พากันหนีจากไปสู่เมืองไกล

ครั้งนั้นประชาชนคนทั้งหลายประชุมกันคิด ภัยร้ายทั้งชนิดนี้ไม่เคยมีอาจจะเป็นเพราะพระราชาแห่ง
นครไพศาลีประพฤติผิด ทำงานนอกจารีตราชประเพณี ไม่ตั้งอยู่ในราชธรรมอันดีอย่างกษัตริย์ทั้งหลาย
จึงอาเพศให้เกิดภัยร้าย ประการ แล้วชวนกันไปยังพระราชสถานที่สถิตแห่งประมุขชาติราชบพิตร
พระเจ้ากรุงไพศาลี กราบทูลว่าข้าแต่อธิบดินทร์ปิ่นแคว้นวัชชีมหาราช บัดนี้ ภัยร้ายกาจ ประการ
เกิดขึ้นแล้วในพระนคร ซึ่งแต่กาลก่อนมิเคยมี นับได้ พระราชาธิบดี ที่เถลิงราชสมบัติมา ท่านผู้รู้กล่าวว่า
ภัยเห็นปานนี้ย่อมไม่เกิดมีในรัชกาลของพระราชาผู้บริหารประเทศตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงไพศาลีโปรดให้มุขอำมาตย์ราชมนตรีประชุมชาวประชาชีที่ข้องใจสงสัยในราชกิจ
ยังท้องพระโรงหลวงรัตนวิจิตรในราชฐาน ให้สำรวจตรวจดูงานของพระมหากษัตริย์ ว่าสิ่งใดที่เราปฏิบัติ
ไม่ชอบด้วยราชประเพณี ทำให้เกิดภัยกาลีร้าย ประการ เมื่อมหาชนตรวจดูงานของพระมหากษัตริย์
ก็มิได้เห็นข้อปฏิบัติอันใดของพระองค์ที่บกพร่องอันเป็นช่องที่จะให้เกิดภัยพิบัติได้ จึงกลาบทูลว่า
โทษใดๆของพระองค์มิได้ทรงมี แล้วบรรดาชาวประชาชีจึงปฤกษากันว่าเราท่านทั้งหลายจะพากันทำ
ฉันใดภัยจึงจะสงบลงด้วยดี ดังนั้น เมื่อผู้ใดเสนอว่า พิธีกรรมเหล่านี้มีพลีกรรมการบวงสรวงเป็นต้น จักเป็นมงคลระงับภัยพิบัติได้ เมื่อคนทั้งหลายพากันทำหมดทุกวิธี ก็ไม่สามารถปัดเป่าภัยกาลีให้สงบได้

ครั้งนั้น มีหมู่ชนที่สนใจในพระพุทธศาสนา เสนอความเห็นขึ้นมาชวนให้น่าคิดว่าบัดนี้ สมเด็จพระธรรม
สามิสสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกทรงประทานธรรมวิโมกข์แก่สัตว์ ทรงพระปรีชาญาณสมบัติอัน
วิเศษสมบูรณ์ด้วยพระฤทธิ์พระเดชและอนุภาพทุกประการ ถ้าได้กราบทูลอาราธนาให้เสด็จมาประทานธรรม
ในนครนี้ เหล่าภัยพิบัติทั้งมวลก็คงจะสงบได้ คำเสนอเรื่องนี้เป็นที่พึงใจแก่คนเป็นอันมาก จึงพากันถามว่า
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ที่ใด ครั้นทราบแล้ว ก็พากันเข้าไปยังพระราชสถานกราบทูลให้
พระเจ้ากรุงไพศาลีทรงประทานโอกาส จัดราชปุโรหิตอำมาตย์นำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย
พระเจ้าพิมพิสารยังราชคฤห์มหานคร เพื่อขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บทจรมาระงับดับความ
เดือดร้อนของชาวพระนครไพศาลีด้วยอานุภาพพระบารมีแต่ครั้งเดี๋ยวนี้เถิด

ในเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ฤดูเข้าพรรษา พระบรมศาสดาทรงประทานปฏิญญาแด่พระเจ้าพิมพิสาร
เพื่อทรงจำพรรษากาล ณ พระเวฬุวัน

อนึ่งเล่าในสมัยนั้น เจ้าลิจฉวี พระนามว่า มหาลี เป็นผู้มีความสนิทสนมกันอย่างดีกับพระเจ้าพิมพิสาร
จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านำเครื่องราชบรรณาการไปพร้อมด้วยบุตรปุโรหิต เพื่อปฏิบัติราชกิจ
ยังแคว้นมคธ แล้วเจ้ามหาลีก็รีบสัญจรบทจากไพศาลีไปมคธรัฐ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารราชาธิปัตย์
ยังราชคฤห์นคร กราบทูลวิงวอนขออัญเชิญพระบรมศาสดา ครั้นได้รับพระราชบัญชาเปิดโอกาสให้เฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวัน เจ้ามหาลีก็ขมีขมันชวนคณะราชฑูตไปเฝ้าพระพุทธที่พระมหาวิหาร
ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงพระมหากรุณา เพื่อบำเพ็ญโลกัตถจริยาระงับความเดือดร้อน
ประทานความร่มเย็นแก่ชาวนครไพศาลีด้วยอานุภาพพระบารมีด้วยเถิด

เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับคำของเจ้าลิจฉวี พร้อมชาวไพศาลีทูลอาราธนา จึงทรงใคร่ครวญดูแล้ว
ก็ทรงรู้ชัดว่า ถ้าตถาคตไปยังไพศาลีนครก็สามารถระงับดับความเดือดร้อนของประชาราษฎร์
ภัย ประการก็จะพินาศไม่ตั้งอยู่ได้ ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัยในรัตนสูตรพุทธอาณาจึงรับคำ
อาราธนาของคณะเจ้าลิจฉวี

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าว นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาของลิจฉวี จึงเสด็จ
ไปเฝ้าพระมหามุนีแล้วทูลถาม ครั้นทรงทราบความว่าจักเสด็จเป็นแม่นมั่น จึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น
ขอให้พระองค์ทรงรอก่อน ด้วยวิถีทางที่จะเสด็จบทจรยังไม่สู้ดี จึงโปรดสั่งให้ปราบพื้นวิถีทางสถลมารค
ถวายพระผู้มีพระภาคประมาณ โยชน์ จากกรุงราชคฤห์ถึงแม่น้ำคงคา ให้เสม่ำเสมอแก่การยาตรา
โดยสวัสดีทุกระยะวิถีทางหนึ่งโยชน์ก็โปรดให้สร้างวิหาร สำหรับพระศาสดาจารย์ประทับพัก พร้อมด้วย
ที่พำนักของพระสงฆ์ทั้งหลายที่ติดตามเสด็จ

ครั้นทางสำเร็จเรียบร้อยดีแล้วทั้งวิหาร พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้า พระศาสดาจารย์ กราบทูลให้
ทรงทราบว่า บัดนี้ควรแก่เวลา พระบรมศาสดาจึงเสด็จเดินทางพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕oo โปรดให้
ประชาชนที่ชุมนุมคอยส่งเสด็จโปรยดอกไม้ห้าสีถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งโปรดให้ยกธงชัยและธงแผ่นผ้า
พร้อมด้วยต้นกล้วย ในที่สุดระยะทางโยชน์หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งพระวิหารโปรดให้กั้นเศวตฉัตรซ้อนถวาย
พระศาสดาจารย์และพระสงฆ์บริวาร ทั้งจัดไทยทานถวายทุกระยะที่พักพำนักแรมราตรี รวม วันพอดี
ก็เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เสด็จลงราชนาวาเรือพระที่นั่ง ซึ่งโปรดให้จัดตั้งบัลลังก์ภายใต้พลับพลา
หลังคาสี จัดลาดอาสนะเป็นอย่างดีตลอดหมด พระบรมสุคตเสด็จพระทับบนพระพุทธอาสน์ พระสงฆ์
ก็ลีลาศลงนั่งแวดล้อมเป็นบริวาร พระเจ้ากรุงราชคฤห์นครจึงโปรดให้แจ้งข่าวไปยังเจ้าลิจฉวีให้ชาว
เมืองไพศาลีจัดแจงวิถีทางต้อนรับพระบรมศาสดาซึ่งจะเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่ง กำหนดระยะทาง
ที่จะถึงฝั่งนครไพศาลี เป็นทางยาวโยชน์หนึ่งพอดีทางเสด็จชลมารค พระเจ้าพิมพิสารเสด็จลงส่ง
เรือพระผู้มีพระภาคลุยลงไปในแม่น้ำประมาณเพียงพระศอ แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันจะมารอรับเสด็จ
ณ ที่นี้ ในยามที่พระชินสีห์เสด็จกลับยังราชคฤห์นครอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เรือพระที่นั่งทรงขององค์พระผู้มีพระภาคเสด็จจากท่า มหาชนพากันทำสักการะบูชายิ่งใหญ่
ไม่มีการเสด็จเรือครั้งใดเสมอเหมือน จึงเป็นการเสด็จด้วยพระเกียรติอย่างมโหฬาร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสาร
จัดถวาย ทั้งเป็นการเสด็จไปจากพระนครหนึ่งสู่นครหนึ่ง โดยพระมหากษัตริย์ทรงจัดรับจัดส่ง
ทั้งสองพระนคร จึงเป็นการเสด็จที่มีกิตติศัพท์ขจรไปไกลในพระประวัติของพระศาสดา .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางประทับเรือ แต่เพียงนี้ .