ปางที่ ๒๓
ปางห้ามสมุทร
(เรียกเต็มๆว่า ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร)

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ
ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม
เป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อพระบรมศาสดาโปรดพระยสะแล้ว ต่อมาก็แสดงธรรม โปรด วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ
และควัมปติ เสฏฐีบุตร รวม ๔ คน กับมาณพอีก ๕o คน
ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนของพระยสะ
ให้สำเร็จแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
รวมเป็นอริยสงฆ์สาวก ๖o องค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาทรงเห็นว่า บัดนี้ควรจะประกาศ
ศาสนาได้แล้ว จึงตรัสเรียกสาวกทั้ง ๖o องค์มาแล้ว ทรงรับสั่งว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์
แม้พวกเราทั้งหลาย ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลายเช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลายเพื่ออนุเคราะห์แก่ประชุมชน
เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ แต่อย่ารวมกันไปทางเดียว
ตั้งแต่สองรูปจงแยกกันไปแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์
สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในนัยน์ตาน้อยมีอยู่ สัตว์พวกนี้ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้
เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลาย
แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นเดียวกัน"

ครั้งทรงส่งสาวก ๖o องค์ ไปประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ครั้งถึงไร้ฝ้าย ทรงพบภัทรวัคคีกุมาร ๓o คน ได้ทรงแสดงธรรมโปรดกุมารทั้ง ๓o คนนั้น ให้บรรลุธรรม
เบื้องสูงแล้ว ประเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุในพระศาสนาแล้ว ทรงให้ออกไปประกาศพระศาสนา
ทั้ง ๓o องค์ เช่นเดียวกับพระสาวกทั้ง ๖o นั้น แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไปยังอุรุเวลาเสนานิคม
เสด็จเข้าไปประทับอาศัยอยู่ในสำนักของอุรุเวลากัสสป หัวหน้าชฎิล ๕oo ผู้เป็นที่เคารพนับถือของ
มหาชนในมคธรัฐเป็นอันมาก

ต่อมาก็ทรงทำปาฏิหาริย์นานัปการ เริ่มตั้งแต่ทรมารพญานาคในโรงไฟอันเป็นที่นับถือของชฎิลเหล่านั้น
ให้มีฤทธิ์แล้ว ประทับอยู่ที่โรงไฟนั้นโดยผาสุกวิหาร ให้ชฎิลทั้งหลายมีความเคารพนับถือในอานุภาพของ
พระองค์แล้ว ทรงทำปาฏิหาริย์อื่นๆอีก ในครั้งสุดท้ายทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำ ซึ่งไหลบ่าจากทิศต่างๆ
ท่วมสำนักท่านอุรุเวลากัสสปมิให้น้ำเข้ามาในที่พระองค์ประทับ พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำ
ที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน ครั้งนั้น ชฎิลทั้งหลายพากันพายเรือมาดู ต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ในที่สุด
ก็สิ้นพยศทั้งหมดยอมเป็นศิษย์ตั้งอยู่ในโอวาท ถึงกับลอยบริขารของชฎิลลงทิ้งเสียในแม่น้ำแล้ว
ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระพุทธจริยาที่ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำครั้งนี้ ได้เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนที่นิยมในอิทธิปาฏิหาริย์
ของพระพุทธเจ้าถือเป็นมงคลอันสูงเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้
เรียกว่า "ปางห้ามสมุทร"

แต่พุทธศาสนิกชนที่หนักในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ นิยมในคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน
เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่า แม้จะได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นไว้ ก็ได้ปรารภถึงเหตุไม่
แต่ได้ปรารภเหตุอื่น จะขอยกมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในพระนครกบิลพัศดุ์ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าศากยะ ซึ่งพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธบิดา
กับพระนครเทวทหะ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะ ซึ่งพระญาติข้างฝ่ายพระมารดา
ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินี ชาวนาของเมืองทั้งสองนี้อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหินีทำนา
ร่วมกันมาโดยปกติสุข สมัยหนึ่งฝนน้อย น้ำในแม่น้ำก็น้อยชาวนาทั้งหมดต้องกั้นทำนบทดน้ำในแม่น้ำ
นี้ขึ้นทำนา แม้ดังนั้นแล้วน้ำก็พาเพียงพอไม่ เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำทำนากันขึ้น ชั้นแรกก็เป็นการวิวาท
กันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี การวิวาทก็ลุกลามมากขึ้น จนถึงคุม
สมัครพรรคพวกเข้าประหารกัน และด่าว่ากระทบถึงชาติโคตร และลามปามไปถึงราชวงค์ในที่สุด
กษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระนคร ก็กรีฑาทัพออกประชิดกันยังแม่น้ำโรหินี
เพื่อสัมประหารกัน โดยหลงเชื่อคำเพ็ดทูลของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้นกัน มิได้ทันทรงวินิจฉัย
ให้ถ่องแท้ว่า เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้วควรจะทรงระงับเสียด้วยสันติวิธี
อันชอบด้วยพระราโชบายที่รักษาสันติสุขของประเทศ

พระบรมศาสดาทรงทราบ ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสอง
โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของมนุษย์ โดยไม่พอที่จะพากันล้มตายทำลายเกียรติ
ของกษัตริย์เพราะเหตุแย่งน้ำเข้านาเล็กน้อย ครั้นพระญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจคืนดีกันแล้ว
ก็เสด็จพระพุทธดำเนินกลับ

พระพุทธจริยาที่ทรงแสดงตอนนี้ เป็นมงคล แสดงอานุภาพของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง
พุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรม เล็งเห็นเป็นคุณอัศจรรย์ยิ่งแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์
จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า "ปางห้ามสมุทร" บ้าง เรียกว่า "ปางห้ามญาติ" บ้าง
ดังนั้น ปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติจึงเป็นปางเดียวกัน แต่มีบางท่านกล่าวค้านว่า
ปางห้ามญาติยกมือเดียว ปางห้ามสมุทรยก และแล้วก็ถูกบางท่านกล่าวค้านว่า
ไม่ถูก ปางห้ามสมุทรยกมือเดียว ปางห้ามญาติยก มือ คือห้ามทั้งสองฝ่าย ต้องยก มือ
ถ้ายกมือเดียว ก็ห้ามฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรม ฝ่ายที่ไม่ถูกห้ามก็จะได้ใจ แต่ฝ่ายถูกห้ามจะเสียใจ
จะไม่เชื่อถือ แล้วสงครามก็จะไม่สงบ

ตามเหตุผลเรื่องหลังนี้แยบคายดีกว่า ถ้าเรียกพระพุทธรูปปางนี้รวมกันเป็นชื่อเดียวว่า
"ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร" เรื่องก็น่าจะยุติ ด้วยสมเหตุสมผล ควรแก่การเชื่อถือ ตามนัยนี้
นอกจากผู้เชื่อถือจะไม่ถูกวิจัยว่าเชื่องมงายแล้ว ยังเป็นเกียรติอันสูงแก่พระบรมศาสดาที่ทรง
พระมหากรุณาควรแก่การเทอดทูนของชาวโลกอีกด้วย

เรื่องพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติ เป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ข้างนี้ เข้าใจว่ามีนักปราชญ์
สันนิษฐานว่าเป็นความจริงมาแล้ว แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องนี้
ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธจริยาตอนนี้ และได้ทรงสร้างขึ้นไว้ด้วยพระราชศรัทธาก็มี ทั้งดูเหมือน
มีพระราชประสงค์จะทรงให้เป็นคุณประโยชน์ดังเรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ด้วย

ขอให้เรานึกทวนความจำอีกหน่อย คือ ลองนึกถึงภาพพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร
หรือที่เรียกสั้นๆว่า ห้ามสมุทรที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือนิยมเรียกว่าโบสถ์พระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังอีกสักครั้ง ทุกท่านที่เคยเข้าไปไหว้พระแก้วแล้ว
ยังคงพอจะจำภาพพระพุทธรูปปางนี้ได้ทุกคน ทราบว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯรัชกาลที่
ทรงสร้าง เป็นพระขนาดใหญ่ทั้งสององค์ ซ้ำทำวิจิตรงดงาม บุด้วยทองคำหนักถึงองค์ละหลายสิบชั่ง
ยังมีแบบไม่ทรงเครื่องขนาดก็ไม่เล็กนัก ดูเหมือนมีอีก ๑o องค์ อะไรเป็นเหตุให้สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ซึ่งพระองค์ก็เป็นนักปราชญ์ ทรงซาบซึ่งถ่องแท้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
ทรงสร้างพระพุทธรูปปางนี้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกรัชกาลที่ ทรงสร้างขึ้น
คงจะมีพระประสงค์ไม่เพียงเป็นที่สักการบูชาเท่านั้น เพราะถ้าเพียงเป็นที่สักการบูชาอย่างเดียวแล้ว
เฉพาะพระแก้วมรกตก็น่าจะพอพระหฤทัย จุใจมหาชนชาวไทยดีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้น ก็น่าจะทรงสร้าง
ไว้หลายๆปาง และก็คงจะไม่ทรงสร้างเพื่อแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำอันจะไหล
มาท่วมพระองค์เป็นแน่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะต้องแน่พระหฤทัยว่า พระปางนี้
จะต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร ดังที่ปรากฏในทางตำนาน
และแม้ในพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดเสนาอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์ราชกวีในสมัยนั้น ส่วนมากคง
จะต้องมีความเข้าใจอย่างนี้

เมื่อแน่ใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธรูปที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น
เป็นกิริยาทรงห้ามนั้น เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทรแล้ว คราวนี้ก็มาถึง
วัตถุประสงค์ของการสร้างต่อไปว่า พระองค์มีพระประสงค์อะไร ?

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ น่าจะมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรมสำหรับเตือน
พระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์พระแก้วเนืองๆว่า
"พระบรมวงศานุวงศ์อย่างทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย" จะถึงความย่อยยับอย่างกษัตริย์
ในสมัยอยุธยา โดยทรงขอเอาอานุภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางนี้
ช่วยทรงเตือน ช่วยทรงห้าม ด้วยทรงหวั่นเกรงพระทัยอยู่มากว่า พระบรมวงศานุวงศ์จะเบา
พระทัย ก่อการวิวาทเรื่องราชสมบัติขึ้น ในเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เพราะในเวลานั้น
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระทัยมั่นหมายจะให้
เสวยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ก็ยังทรงผนวชอยู่แต่ก็เป็นบุญบารมีดียิ่งของพระราชวงศ์จักรี
ที่มิได้มีเหตุการณ์อันไม่เป็นมงคลดังที่ทรงหวั่นเกรงพระทัยเกิดขึ้น จะว่าเป็นด้วยบารมีของ
พระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ และอนุภาพของพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติทั้งสององค์ที่ทรง
สร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีส่วนช่วยอภิบาลรักษาความสวัสดีของพระบรมราชจักรีวงศ์ด้วย
ก็น่าจะมีส่วนแห่งความจริงอยู่ไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น สมเด็จพระนั่งกล้าฯ ยังทรงถวายพระนาม
พระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์หนึ่ง พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
องค์หนึ่ง อันเป็นพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมอัยยกาธิราช พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
องค์หนึ่ง อันเป็นพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมอัยยกาธิราช และสมเด็จพระบรมชนกนารถ
ต้นปฐมบรมจักรีวงศ์อีกด้วยซึ่งล้วนเป็นคุณเครื่องช่วยส่งเสริมพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์
ให้ทรงเคารพเชื่อถือเป็นอย่างดีอีกโสดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สำเร็จสมพระราชปณิธานดังกล่าวแล้ว

ตามนัยนี้แสดงให้เห็นชัดว่า พระพุทธรูปลักษณะนี้ ต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร
และเป็นปางเดียวกันกับพระพุทธปางห้ามสมุทร ซึ่งควรจะเรียกว่า ปางห้ามพระญาติมากกว่า
เพราะสมเหตุสมผลตามเรื่องดังกล่าวแล้ว

คราวนี้ปัญหาก็ตามมาอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นเหตุให้นิยมเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า
"ปางห้ามสมุทร" ทำไมจึงไม่เรียกว่าปางห้ามพระญาติแต่แรก

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชะรอยเกรงจะไปพ้องกับพระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ
ด้วยสำเนียงพูดคล้ายคลึงกันมาก ยิ่งสำเนียงพูดว่า พระ ของคนส่วนมากแล้ว สำเนียง (ร) รักษา
กล้ำมักจะหายไป เป็นเสียง (พะ) เสียหมดทั้ง (ญา-ติ) ก็นิยมอ่านว่า ญาด อยู่แล้ว และ (ยา-ธิ)
ก็นิยมพูดว่า ยาด เช่นโรคพยาธิปากขอ ไม่เห็นมีใครเรียกว่า (พยา-ธิ) ปากขอ หรือตัวพยาธิก็ไม่มี
ใครเรียกตัว (พยา-ธิ) เช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธรูปปางห้ามพยา-ธิ สำเนียงคนนิยมเรียกจึงเป็น
สำเนียงว่า ปางห้ามพระยาด คล้ายกับสำเนียงเรียกพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติของพระพุทธเจ้า
ซึ่งจะทำสงครามแย่งน้ำในสมุทรกัน

ดังนั้น จึงชอบที่จะสงวนชื่อของพระพุทธปางห้ามญาติไว้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติของพระพุทธรูป
ปางสำคัญนี้ปางหนึ่งให้สมบูรณ์แบบ และเพื่อเป็นศรีเป็นมิ่งขวัญควรแก่การเทอดบูชาสักการะ
และก็โปรดทราบไว้ด้วยว่า พระพุทธรูปปางนี้ มิใช่ปางพระประจำวันจันทร์ ที่มักเข้าใจผิดไปว่า
พระประจำวันจันทร์ เป็นปางห้ามญาติ หรือห้ามพระญาติ คือยกพระหัตถ์ขวาขึ้นห้ามข้างเดียว
พระพุทธรูปปางห้ามญาตินั้น ต้องยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้ง ข้าง และเป็นปางเดียวกับพระพุทธรูป
ปางห้ามสมุทรโดยเหตุผลดังกล่าวแล้ว

สำหรับพระพุทธรูปที่ถือเป็นพระประจำวันจันทร์นั้น ต้องเป็นพระปางห้ามพยาธิหรือจะเรียกว่า
ห้ามพยาธิ์ ก็ตามเถิด เป็นพระยกพระหัตถ์ขวาขึ้นห้ามข้างเดียว ซึ่งก็มีเกียรติประวัติสำคัญมาก
ควรแก่การเทอดทูนขึ้นเป็นศรีเป็นมิ่งขวัญ เป็นพระประจำวันจันทร์ยิ่งนัก แต่จะยังไม่กล่าวถึง
ในเวลานี้ จะเอาไว้กล่าวในตำนานพระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ ซึ่งนิยมเป็นพระประจำวันจันทร์ .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร แต่เพียงนี้ .