ปางที่ ๒๒
ปางภัตตกิจ

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา
พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตรเป็นกิริยาเสวย

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

สมัยนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บิดามารรักใคร่มาก
ปลูกเรือนให้ฤดู บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคม ไม่มีบุรุษเจือปน ค่ำวันหนึ่ง
ยสะมาณพนอนหลับก่อน นางบริวารหลับต่อภายหลัง แสงไฟยังตามสว่างอยู่
ยสะมาณพตื่นขึ้น เห็นนางบริวารนอนหลับ มีอากัปกิริยาพิกลต่างๆไม่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความยินดีเหมือนเห็นทรากศพในป่าช้า ยสะเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่ายมากถึงแก่
ออกอุทานว่า "ที่นี่วุ่นวาย ที่นี่ขัดข้องหนอ" ทนดูต่อไปไม่ได้รำคาญใจจึงสวมรองเท้า
พาร่างออกไปให้พ้นจากอารมณ์ที่ไม่ประสงค์เดินเรื่อยไปจนออกประตูเมือง
ตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันโดยไม่รู้ว่าถึงใหน เพียงแต่รู้สึกว่าสบายใจ
ก็เดินเรื่อยไป จะจัดว่าเป็นวาสนาบารมีของท่านพาไปก็ชอบ

ในเวลานั้นจวนเวลาจะใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ทรงได้ยินเสียงยสมาณพ ออกอุทานเช่นนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัส
เรียกยสมาณพว่า "ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่เถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง"
ยสมาณพได้ยินเช่นนั้นก็พอใจ จึงถอดรองเท้าเสีย เข้าไปใกล้ถวายบังคมแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาฟอกจิตยสมาณพ
ให้ปราศจากมลทินแล้ว ทรงแสดงอริยสัจจ์ เมื่อจบเทศนาแล้ว
ยสมาณพได้บรรลุโสดาปัตติผล

ฝ่ายมารดายสมาณพ ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูกชาย ร้องไห้ บอกให้เศรษฐีผู้สามี
ให้ทราบว่า ลูกหาย ท่านเศรษฐีใช้ให้คนออกติดตามทั้ง ทิศแม้ตนเองก็ออก
เที่ยวหาด้วย เผอิญเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันเห็นรองเท้ายสะ จำได้
จึงตามลูกชายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจจ์ โปรดท่านเศรษฐี
เช่นเดียวกับโปรดยสมาณพ เมื่อจบเทศนา ท่านเศรษฐีได้บรรลุโสดาปัติผล
แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
เป็นอุบาสิสกถึงพระรัตนตรัยคนแรกในโลก ส่วนยสมาณพได้ฟังอนุปุพพิกถา
กับอริยสัจจ์ ซ้ำอีกครั้ง ได้บรรลุอรหัตตผลเป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ขณะนั้นท่านเศรษฐีผู้บิดา ไม่ทราบว่ายสมาณพเป็นพระอรหันต์จึงกล่าวว่า ยสะ มารดาของเจ้า
กำลังร้องไห้รำพันถึงเจ้าอยู่ เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด ยสมาณพยกสายตาที่ทอดอยู่
เบื่องต่ำขึ้นมองดูพระบรมศาสดา ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสกะเศรษฐีว่า ดูกรท่านเศรษฐี
บัดนี้ ยสะได้ทรงอรหัตตคุณแล้ว หาควรที่จะไปครองเรือนต่อไปไม่

ท่านเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้วพระเจ้าข้า
แล้วทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคและยสะ ไปรับบิณฑบาตรในเรือนของข้าพระองค์ในเช้า
วันนี้เถิด ครั้นท่านเศรษฐีทราบว่าพระผู้มีพระภาคทราบรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปเรือน
แจ้งเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาและสะใภ้ทราบพร้อมกับให้จัดอาหารเช้าเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย

เมื่อเศรษฐีทูลพระผู้มีพระภาคกลับไปแล้ว ยสมาณพจึงทราบทูลขออุปสมบทพระบรมศาสดา
ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อุปสมบทว่า "เอหิ ภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด
ธรรมเรากล่าวดีแล้วท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"
เช่นเดียวกับประทานแก่พระปัญจวัคคีย์
แต่ในที่นี้ไม่ตรัสว่า "เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ" เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์
คือเป็นพระอรหันต์เสียก่อนแล้ว สมัยนั้น มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น องค์ ทั้งพระยสะ

ในเวลาเช้าวันนั้น พระศาสดากับพระยสะตามเสด็จ เสด็จไปเรือนเศรษฐี มารดาและภรรยา
ของพระยสะเข้าไปเฝ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมอนุปุพพิกถาและอริยสัจจ์
โปรดให้สตรีทั้งสองบรรลุพระโสดาปัตติผล สตรีทั้งสองแสดงตนเป็นอุบาสิกา
ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต สตรีทั้งสองเป็นอุบาสิกาคนแรกในโลก ครั้งถึงเวลา
มารดาบิดาและภรรยาของพระยสะน้อมอาหารอันประณีตเข้าไปถวายโดยเคารพ
ด้วยมือของตน พระศาสดาทรงรับด้วยบาตร แล้วทรงทำภุตตากิจ ฉันอาหารบิณฑบาตร
นั้นแล้วตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้งนั้น ให้อาจหาญรื่นเริงในธรรมแล้วเสด็จกลับ
ยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

พระพุทธจริยาที่ทรงทำภัตตกิจฉันอาหารบิณฑบาตรครั้งนี้ เป็นภุตตากิจที่ทรงทำครั้งแรกในบ้าน
เป็นนิมิตรมงคลอันดีสำหรับผู้นับถือพระศาสนาที่พอใจในการบำเพ็ญทานทั่วไป ทั้งเป็นแบบอย่าง
ให้มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ในบ้านสืบมาจนบัดนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้
เรียกว่า "ปางภัตตกิจ" หรือ " ปางภุตตากิจ"

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางภัตตกิจ แต่เพียงนี้ .