ปางที่ ๑๙
ปางรำพึง

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ
พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเป็นกิริยารำพึง บางแห่งสร้างเป็นแบบนั่งก็มี

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อตปุสสะ ภัลลิกะ สองพานิชกราบทูลลาไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จจากร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์
ไปประทับที่ร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่งในคราวประทับครั้งนี้มีพระหฤทัยทรงรำพึงถึงธรรมที่พระองค์
ได้ตรัสรู้แล้วนั้นว่า เป็นธรรมประณีตละเอียด สุขุมคำภีรภาพยากที่บุคคลจะรู้ได้ ทำให้ท้อแท้พระทัย
ถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงร้องประกาศชวนเทพดาทั้งหลาย
พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลอาราธนา
พระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรมโปรดประชากรเพื่อบุลคลผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อย
ทั้งมีอุปนิสัยในอันจะเป็นพุทธสาวก จะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง

พระผู้มีพระภาค ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า ได้ตรัสรู้แล้วย่อม
ทรงแสดงธรรมโปรดประชากรทั้งหลายประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลเพื่อประโยชน์สุข
แก่ปัจฉิมชนตาชนคนเกิดมาภายหลังแล้วจึงเสด็จปรินิพพาน จึงได้น้อมพระทัยไปอันแสดงธรรม
โปรดประชากรในโลกแล้ว ทรงพิจารณาอีกว่าจะมีผู้รู้ถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัย
ของบุลคลทั้งหลายในโลกย่อมมีต่างๆกัน คือ ทั้งประณีต ปานกลาง และ หยาบ ที่มีนิสัยดี
มีกิเลสน้อยเบาบางมีบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ก็มีอยู่
ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์น้อยก็มี
เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี
เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี

เปรียบเสมือนดอกบัวที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ
บางเหล่าอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าขึ้นพ้นน้ำแล้ว
ในดอกบัว เหล่านั้น ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้น
คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่ จักบาน ณ เช้าวันนี้ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบาน ณ วันพรุ่งนี้
ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ยังอยู่ภายในน้ำ จักบาน ณ วันต่อๆไป
ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิดฉันใด
เวไนยสัตว์ที่จะตรัสรู้ธรรมก็มีต่างพวกกันฉันนั้น ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอิทรีย์แก่กล้า
เป็นผู้ที่จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย ก็อาจรู้ธรรมพิเศษนั้นได้ฉับพลัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้น
เป็นประมาณกลาง ได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพพภาค จนมีอุปนิสัยแก่กล้า ก็สามารถ
จะบรรลุธรรมพิเศษนั้นดุจเดียวกัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้น แต่ยังอ่อน หรือหาอุปนิสัยไม่ได้เลย
ก็ยังควรได้รับแนะนำในธรรมเบื้องต่ำต่อไปก่อน เพื่อบำรุงอุปนิสัย เมื่อเป็นเช่นนี้
พระธรรมเทศนาคงไม่ไร้ผล จักยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่คนทุกเหล่า เว้นแต่จำพวกมิใช่
เวไนยคือไม่รับแนะนำ ซึ่งเปรียบด้วยดอกบัวอ่อนอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าฉิบหายเสีย
ครั้นทรงพิจารณาแล้วด้วยพระญาณหยั่งทราบเวไนยสัตว์ผู้จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม
เทศนาดั่งนั้นแล้ว ก็ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในอันจะแสดงธรรมสั่งสอนมหาชน
และตั้งพุทธปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้ประกาศ พระศาสนาแพร่หลาย
ประดิษฐานให้มั่นคง สำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกเหล่า

พระพุทธจริยา ที่ทรงรำพึงถึงธรรมที่จะแสดงโปรดมหาชนนั้น
เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า " ปางรำพึง"
ประจำวันของคนเกิดวันศุกร์ .

 

จบตำนานพระพุทธรูป ปางรำพึง แต่เพียงนี้ .