ปางที่ ๑๔
ปางนาคปรก

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา
มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียร บางแห่งสร้างเป็นแบบขัดสมาธิเพชร
พระนาคปรกนี้มี แบบ คือ แบบที่หนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค
แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขดตัวล้อมพระกายไว้ถึงพระอังสา
เพื่อป้องกันลมฝนตามตำนาน

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้ อชปาลนิโครธ ๗ วัน แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปประทับ
นั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเณย์ของต้นโพธิ์นั้น .

บังเอิญในวันนั้น เกิดมีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด วัน พญามุจจลินท์นาคราชออกจากพิภพ
ทำขนดล้อมพระวรกาย ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตรฉัตรถวาย
พระผู้มีพระภาคด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุง
บุ้ง ร่านริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย .

ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
จำแลงเพศเป็นมาณพน้อย ยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าในเฉพาะพระพักตร์ .

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า :

สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส

สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต

อพฺยาปชฺชํ ลุขํ โลเก

ปาณภูเตสุ สญฺญโม

สุขา วิราคตา โลเก

กามานํ สมติกฺกโม

อสฺมิมานสฺส วินโย

เอตํ ปรมฺ สุขํ .

ความหมายว่า ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว
รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน
คือความสำรวมในสัตวืทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด
คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ
คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง

พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ภายในวงขนดของพญามุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดวง
พระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปอีกปางนี้ เรียกว่า "ปางนาคปรก" ดังนั้นพระพุทธรูปปางนี้
จึงอยู่ในพระอริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาที่นิยมสร้างชนิดนั่ง
สมาธิแบบพระมารวิชัยก็มี มีพญานาค หัว แผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียรเพื่อป้อง ลม ฝน
ตามเรื่อง

เรื่องพระนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า
องอาจเป็นเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์
ลางทีจะเอาแบบลัทธิพราหมณ์มาสร้างก็ได้ แต่ลักษณะนี้ ดูจะป้องกัน ลม ฝน ไม่ได้
ไม่สมกับเรื่องที่พญานาคมาแวดวงขนดรอบพระกายเพื่อป้องกันลมฝนถวาย

ถ้าจะรัษาลักษณะของพระพุทธรูปตามเรื่องนี้ ก็จะเป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาค
พันรอบพระกายด้วยขนดตัวพญานาค ๔-๕ ชั้น จนบังพระกายมิดชิด เพื่อป้องกัน ลม ฝน
จะเห็นแต่พระเศียร พระศอ และพระอังษา เป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบน ก็จะมีหัวพญานาคแผ่พังพาน
ปกคลุมอีกด้วย ขอให้ดูพระพุทธรูปปางนาคปรก ในหนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษาที่ถ่ายมาจาก
โบสถ์พระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังเป็นตัวอย่างเถิด จะเห็นเป็นจริงตามลักษณะของเรื่องนี้
มิใช่อย่างที่นิยมสร้างกันอยู่ในบัดนี้ หากแต่รูปแบบนี้ไม่งาม ถ้าคนที่ไม่ทราบเรื่องมาก่อนอาจ
เห็นไปว่าพระถูกพญานาครัดจะกลืนกินก็ได้ แต่คนที่ไม่รู้แล้วไม่เรียนให้รู้
เราก็จะช่วยอะไรไม่ได้เหมือนกัน .

พระพุทธรูป ปางนาคปรก นี้
นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูป ที่สักการบูชาประจำวัน ของคนเกิดวันเสาร์ .

 


จบตำนานพระพุทธรูป ปางนาคปรก แต่เพียงนี้ .