ปางที่ o๑
ปางอธิฐานเพศบรรพชิต หรือ ปางมหาภิเนษกรมณ์

 

ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้

อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงาย
วางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งฝ่าพระหัตถ์ตรงพระอุระ
เบนฝ่าพระหัตถ์ไปข้างซ้ายเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศเป็น
บรรพชิต  พระพุทธรูปปางนี้ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียรด้วยนิยมว่า
พระรัศมีจะมีก็ต่อเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ปางมหาภิเนษกรมณ์ ก็เรียก

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนาน ดังนี้

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์บังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
ครั้งนั้นท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ชั้น ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอัญเชิญพระโพธิสัตว์เจ้า
ได้จุติลงไปบังเกิดในมนุสสโลก เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้
ธรรมและประพฤติธรรม สมดั่งที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

ครั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงพิจารณาดูมหาวิโลกนะ ประการ คือ
๑. กาลเวลา ๒. ประเทศ ๓. ตระกูล ๔. มารดา ๕. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานะอันสมควรแล้ว
ก็ทรงรับคำทูลเชิญ ต่อมาก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี
พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัศดุ์ แคว้นสักกะชนบท ปรากฎแก่พระนางเจ้าทรงพระสุบินนิมิตร
เมื่อเวลาราตรี เพ็ญเดือน ก่อนพุทธศักราช ๘o ปี ว่ามีพญาเสวตรกุญชรชาติชูดอกบัวบุณฑริกมีกลิ่นหอม
เข้ามาเฝ้าพระนาง ครั้นพระนางตื่นบรรทมแล้ว ได้นำความฝันขึ้นกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสวามี
ได้รับคำทำนายจากโหราจารย์ว่าจะมีราชโอรสเป็นชาย มีบุญญาภินิหารยิ่งใหญ่ หาผู้ใดเสมอมิได้
พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดให้แจ้งจัดการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดีทุกประการ

ครั้นพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์ถ้วนทสมาสแล้ว ได้ทูลลาพระสวามีเสด็จเยี่ยมพระญาติยังเทวทหะนคร
โดยพระราชยานสีวิกามาศในวันวิสาขปุณณมี เพ็ญเดือน ออกจากพระนครกบิลพัศดุ์เวลาเช้า ถึงป่าลุมพินีสถาน
อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง อันเป็นรมณียสถานเสด็จเข้าพักร้อนยังร่มไม้สาลพฤกษ์
ขณะนั้นประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวนพระครรภ์ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานก็รีบจัดสถานที่ถวายเท่าที่จะทำได้
พระนางเจ้าได้ประสูติพระโอรสในสถานที่อันเป็นมหามงคลนั้นโดยสวัสดี

เมื่อพระกุมารเสด็จจากครรโภทรของพระชนนีแล้ว ได้เสด็จดำเนินไปได้ ก้าว ดำรัสอาสภิวาจาเป็นมหัศจรรย์ยิ่งว่า

อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ
เชฎฺโฐ เสฎฺโฐ อนุตฺตโร
อยนฺติมา เม ชาติ
นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

ความว่า

ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย

ภพใหม่ต่อไปไม่มีฯ ขณะนั้นโลกธาตุก็บังเกิด

ปุพพนิมิตรปาฏิหาริย์ต่างๆ บันดาลให้แผ่นดินไหวเป็นมหัศจรรย์

ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ทรงโสมนัส ได้เสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี
แวดล้อมด้วยราชบริวารกึกก้องด้วยดุริยางค์ประโคมแห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์
โปรดให้จัดพี่เลี้ยงนางนมพร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์บำรุงพระกุมาร
กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวีเป็นอย่างดี

ครั้งนั้นมีดาบส องค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล แต่มหาชนชอบเรียกว่า อสิตดาบส ได้สมาบัติ มีฤทธิ์มาก
เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบข่าวว่าเธอได้พระราชโอรส จึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าเยี่ยม
เพื่อถวายพระพร พระเจ้าสุทโธทนะทรงดีพระทัยเสด็จออกต้อนรับท่านกาฬเทวิลดาบส
และโปรดให้เชิญพระกุมารออกมาเพื่อถวายนมัสการท่านกาฬเทวิล แต่พระบาททั้งสองข้างของพระกุมาร
กลับขึ้นไปปรากฎบนเสียรเกล้าของท่านกาฬเทวิลเป็นอัศจรรย์ ดาบสเห็นดังนั้นก็ตกใจ แต่ครั้นพิจารณาดู
ลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบด้วยปัญญาญาณ มีใจเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใสหัวเราะออกมาได้ด้วยปีติโสมนัส
ประนมหัตถ์นมัสการถวายอภิวาทลงแทบพระบาทของพระกุมาร และแล้วท่านดาบสกลับได้คิด
เกิดโทมนัสจิตร้องไห้ด้วยความเสียใจในวาสนาอาภัพของตน

พระเจ้าสุทโธทนะทรงแปลกพระทัย ได้รับสั่งถามถึงเหตุการณ์ดีใจและเสียใจ ท่านอาจารย์ได้ทูลพยากรณ์ว่า
ที่ดีใจมาก ก็เพราะเห็นว่าพระกุมารเป็นผู้วิเศษ มีลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบูรณ์
จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ จะเปิดโลกนี้ให้สว่างกระจ่างแจ้งด้วยแสงพระธรรม
เป็นคุณที่น่ายินดียิ่งนัก แต่เมื่ออาตมารำพึงถึงอายุสังขารของอาตมา ซึ่งชราเช่นนี้
คงอยู่ไปได้ไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นบรมครูสั่งสอน จึงวิปฏิสารเสียใจ มีอายุไม่ทันได้สดับ
รับรสพระธรรมเทศนา จึงได้ร้องให้

ครั้นอสติตาดาาบสถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไป ไปบ้านน้องสาวนำข่าวอันนี้ไปบอก
นาลกมานพหลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด

ครั้นถึงวันเป็นคำรบ นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงพระกุมาร
ในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณ โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ให้วิจิตรงาม
เป็นพิเศษ ให้พระประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาตย์ทั้งปวง
และโปรดให้เชิญพระโอรสซึ่งประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์งามเพริศพริ้งมาสู่มหาสันติบาต
แล้วเชิญพราหมณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ๑o๘ คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ผู้ทรงคุณวิทยา
ประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมด คน ให้นั่งเหนืออาสยะอันสูง แล้วให้เชิญพระกุมารมายังที่
ประชุมพราหมณ์ทั้ง นั้น เพื่อพิจารณาลักษณะพยากรณ์

ในพราหมณ์ทั้งนั้น ยกโกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียว ได้พร้อมกันพยากรณ์พระกุมารเป็น คติ คือ
พระกุมารนี้ผิว่าจะสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้เดียว ได้พิจารณาเห็นแท้แน่นอนแก่ใจได้ยกนิ้วมือนิ้วเดียว ทำนายเป็นคติเดียวว่า
ลักษณะพระกุมารเป็นลักษณะ พระมหาบุรุษพุทธลักษณะโดยส่วนเดียว จะไม่อยู่ครองฆราวาสและจะเสด็จ
ออกบรรพชา ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้

อนึ่ง ได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฎ
โดยที่พระกุมารมีพระรัศมีโอภาสแผ่ซ่านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ
จึงถวายพระนามว่า "อังคีรส" และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งใด สิ่งจะต้องพลันได้ดังประสงค์
จึงได้ถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตร "โคตมะ" ในวันนั้นบรรดาขัติยวงศ์
ศากยราชทั้งหมดมีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างก็ได้ทูลถวายพระโอรสองค์ละองค์ๆสิ้นด้วยกัน
เป็นราชบริพารของพระสิทธัตถะกุมาร

ส่วนพระนางเจ้ามายาเทวี เมื่อทรงประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ วัน ก็เสด็จทิวงคต
ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร สถิตอยู่ในดุสิตตเทวโลก ตามประเพณีพุทธมารดา
พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมารให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดีโคตมี
พระเจ้าน้าซึ่งก็เป็นมเหสีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดีก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง
เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมี พระโอรสถึงพระองค์
คือ นันทกุมาร และรูปนันทกุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา
ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง

ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปแรกนาขวัญ
ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดให้เชิญพระกุมารไปด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ
ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้าซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบอันอยู่ใกล้สถานที่นั้น ให้เป็นที่ประทับของพระกุมาร
โดยแวดวงด้วยม่านอันวิจิตร ครั้งถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะทรงไถแรกนาขวัญบรรดา
พระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมารพากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด
ปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว

เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุขก็ทรงนั่งขัดสมาธิ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
ยังปฐมฌานให้บังเกิด เวลานั้นเป็นเวลาบ่ายเงาต้นไม้ทั้งหลายย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น
แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฎเป็นปริมลฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์
เมื่อพี่นางนมทั้งหลายกลับมาเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช
ท้าวเธอได้ทรงสดับก็รีบเสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น
ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ
(ออกพระโอษฐ์ตรัสว่า เมื่อวันเชิญมาให้ถวายมนัสการพระกาฬเทวิลดาบส
ก็ทรงทำปฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฎาพระดาบส อาตมาก็ได้ประณตครั้งหนึ่งแล้ว
และครั้งนี้อาตมาก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่) ตรัสแล้วก็ได้อัญเชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร
ด้วยความเบิกบานพระทัย

ครั้นพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงมอบ
ไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงศึกษาได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์
ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนูซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช
และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยมไม่มีผู้ใดเทียมถึง
ให้ปรากฏอัศจรรย์

ครั้นกุมารเจริญด้วยพระชนมพรรษา สมควรสมควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาโปรดให้
สร้างปราสาท หลัง งดงาม เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสประจำ ฤดู
เป็นที่สบายในฤดูนั้นๆอย่างสมเกียรติ แล้วตรัสขอพระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่าพระนางพิมพา
พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหะนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินี
ของพระองค์มาอภิเษกให้เป็นพระชายา พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่ยังปราสาททั้ง นั้น
ตามฤดูทั้ง บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติ
ทั้งกลางวันและกลางคืน จนพระชนม์ได้ ๒๙ ปี มีพระโอรสประสูติแต่พระนางพิมพาพระองค์หนึ่ง
ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

วันหนึ่งพระเจ้าสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่งได้ทอดพระเนตร
เห็นเทวฑูตทั้ง คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะซึ่งเทพยดานิมิตรให้เห็นในระยะทาง
ทรงเบื่อหน่ายในกามคุณ ตั้งต้นแต่ได้เห็นคนแก่เป็นลำดับไป

ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคนล่วงพ้นไปได้เป็นอย่างนั้น
ก็เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่น แก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง
ไม่คิดถึงตัวว่าจะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต
เหมือนหนึ่งว่าจะไม่ต้อง แก่เจ็บ ตาย ขวนขวายหาแต่ของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดหาอุบาย
เครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่การจะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา
ไม่ควรแก่พระองค์เลย

เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา ประการ กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได
จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กันคือ มีร้อนก็มีเย็นแก้
มีมืดก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ คือ แก่ เจ็บ ตาย อย่างนั้นได้กระมัง
ก็แต่ว่าการที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์อย่างนั้น เป็นการยากมาก ยิ่งผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัยแล้ว
จะแสวงหาไม่ได้เลย เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแค้นนัก ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง
เหตุด้วยความรัก ความชัง ความหลง เป็นดุจทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นช่องว่าง
พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชาไม่ยินดี
ในฆราวาสสมบัติเมื่อทรงแน่พระทัยว่า บรรพชาเป็นอุบายให้แสวงธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ได้
เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสเสด็จกลับพระราชวัง

ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นว่า ทางที่จะให้พระองค์
ออกบรรพชาได้นั้น มีทางเดียวคือเสด็จออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ตัดความเยื่อใยในราชสมบัติ
พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยุรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้นเสีย ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา
ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยุรญาติทราบเรื่อง ก็จะมารุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า
ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในราตรีนั้นเอง เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ
ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางศ์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย
ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ

เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัด ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอเหล่านั้น
นอนกลับเกลื่อนอยู่ภายในปราสาทซึ่งสว่างด้วยแสงประทีปบางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล
บางนางผ้าหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา
ปรากฎแก่ พระสิทธัตถะดุจซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้า ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ใหนแต่ไรมาได้กลายเป็น
ป่าช้าปรากฎการแก่พระสิทธัตถะ ในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชา
ในเวลาย่ำค่ำขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาในทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา
เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน
ครั้นทรงตกลงพระทัยเช่นนั้น ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะอำมาตย์
ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะเพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทนางพิมพาเทวีเพื่อทอดพระเนตรพระราหุลกุมาร
พระโอรสองค์เดียวของพระองค์ เห็นพระนางบรรทมหลับสนิทพระกรกอดพระโอรสอยู่
ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้ายก็เกรงพระนางจะตื่นบรรทม
เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาพระโอรส
เสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมแล้ว
ก็เสด็จขึ้นม้ากัณฐกะมีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในยามราตรีกาล
ซึ่งเทพยดาก็บันดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี

เมื่อเสด็จพ้นจากพระนครไปแล้ว พญาวัสวดีมารก็มาขัดขวางทางเสด็จทูลว่าอีก วัน
สมบัติพระเจ้าจักพรรดิก็จะมาถึงพระองค์แล้ว อย่าเพ้อรีบเสด็จออกบรรพชาเลย
พระองค์ตรัสว่าแม้เราก็ทราบแล้ว แต่สมบัติจักพรรดิหาทำให้ผู้เสวยพ้นทุกข์ได้ไม่
ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกราช
บ่ายหน้าสู่มรรคาเพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัศดุ์บุรี

ครั้นเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำ
ไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกบิลพัศดุ์บุรีแล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัศวราชประทับนั่ง
เหนือหาดทรายขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ในที่นี้
ท่านจงเอาเครื่องประดับกับม้าสินธพกลับพระนครเถิด ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับ
สำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปราถนาจะทรงบรรพชา
ทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อย
ด้วยพระองค์เอง แล้วจับพระโมลีโยนขึ้นไปบนอากาศ
ทันใดนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชก็ทรงเอาผอบทองมารองรับพระโมลีเอาไว้ แล้วนำไปบรรจุ
ยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก

ขณะนั้น ฆฏิการพรหมก็นำเอาผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรมาจากพรหมโลกน้อมเข้าไปถวาย
พระสิทธัตถะทรงรับเอาแล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์
แล้วทรงตั้งพระหฟทัยอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิพอันเป็นอุดมเพศแล้วทรงประทานผ้าทรง
ทั้งคู่ที่เปลื้องออกมอบให้แก่ฆฏิการพรหม ฆฏิการพรหมก็น้อมรับเอาผ้าคู่นั้นไว้บรรจุ
ไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลกสถาน .

จบตำนานพระพุทธรูป ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต หรือ ปางมหาภิเนษกรมณ์ แต่เพียงนี้ .